“อาชีพนักบินเป็นงานที่เครียด เพราะชีวิตค่อนข้างแขวนอยู่บนเส้นด้าย เสี่ยงทุกวัน เมื่อล้อพ้นพื้น นั่นคือ ชีวิตคุณ 50 -50 แล้ว จะกลับมาหรือไม่กลับไม่มีใครบอกอะไรได้ เฮฮา ๆ กันอยู่ นั่งคุยกันอยู่ เพื่อนขึ้นบินบางคนไม่กลับมา” พล.อ.ต.ระวิน ถนอมสิงห์ ผู้ชำนาญการกองทัพอากาศ ฉายา “Hollywood” เปิดใจพูดคุยกับ “The Good News Asia”
เคยเฉียดตาย เพราะเครื่องยนต์ดับ
ตั้งแต่ขึ้นบินมามีเหตุการณ์เฉียดตายหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะการบินปกติถือว่าเสี่ยงอยู่แล้ว เคยเครื่องยนต์ดับ 2 ครั้ง ครั้งแรกกว่าจะแก้ไขได้ใช้เวลาพอสมควร โชคดีที่เครื่องติด เพราะเครื่องบินมีความเร็วมาก สาเหตุมาจากบางระบบในเรื่องการเผาไหม้ของอากาศกับการผสมของน้ำมันกับอากาศ ซึ่งเป็นข้อมูลทางเทคนิค เครื่องจึงมีปัญหาเรื่องปรับอากาศกับน้ำมันให้สมดุลย์กัน ทำให้เครื่อง Stall (การสูญเสียกำลังของเครื่อง) และดับในอากาศ ระหว่างนั้นนั่งคิดว่าเป็นอะไร ก็เร่งเครื่องยนต์เครื่องวัดรอบ ที่ควรจะตอบก็ไม่ตอบ ไฟก็ยังติดอยู่ ความเงียบก็เงียบเหมือนเดิม แอร์ให้ความเย็นอยู่ ยังสามารถที่จะพูดคุยกับหอบังคับการบินได้ และคุยกับนักบินลูกหมู่ที่บินตาม ต้องทำ Aircraft ร่อนกลับไปที่ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ คิดว่าไม่น่าบินถึงเพราะไกล เรตการร่อนคือ 1,000 ฟุตต่อหนึ่งไมล์ ถ้าอยู่ซัก 20 ไมล์แล้วความสูง 20,000 ฟุต เชื่อว่าเครื่องสามารถบินไปถึงฉิวเฉียด แต่ตอนนั้นอยู่ที่ 40 ไมล์ ความสูง 20,000 ยังไงก็ไม่ถึง เมื่อไม่ถึงก็ต้องหาที่ Eject ทำอย่างไรให้ Eject โดยที่เครื่องไม่ตกใส่บ้านคน ตอนนั้นอยู่ทางเหนือของสนามบิน และใต้จังหวัดนครสวรรค์ มองเห็นเทือกเขาห้วยขาแข้ง ก็เลี้ยวออกจังหวัดอุทัยธานี เข้าป่าห้วยขาแข้ง แต่พยายามแก้ไขเครื่องไปด้วยตามคู่มือ
“ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดนำมาใช้ตรงนี้ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินต้องทำตามขั้นตอนคู่มือ จะผิดไม่ได้ ถ้าทำผิดก็จะสตาร์ทไม่ติด หรือถ้าเราข้ามสลับขั้นตอน ก็จะไม่ติด ซึ่งเครื่องยนต์ติดครั้งแรกเฉี่ยวพื้น เห็นควายตัวเท่าควาย เห็นบ้านคน เห็นดินแล้ว โชคดีที่เครื่องติด”
เครื่องบินเคยดับอีกครั้งตอนย้ายมาอยู่โคราช นั่งอยู่ข้างหลังกำลังฝึกให้น้อง อาการเดียวกันเลย ดึงหัวขึ้นไปสูงๆ แล้วเครื่องก็ Stall แต่ความสูงต่ำ ประมาณ 9,000 ฟุต ต่างจากคราวที่แล้ว ผมเคยมีประสบการณ์มาแล้ว พอเครื่องยนต์ดับก็รีบ cut off แป๊บเดียวเครื่องยนต์ติด บอกน้องให้ทำตามที่ผมบอก เครื่องก็ติดแล้วบินกลับไปลงจุดหมาย ครั้งนี้ไม่ตื่นเต้นนัก แต่รุ่นน้องคนข้างหน้าเหงื่อแตกพลั่กๆ (หัวเราะ)
สมัยเป็นนักบินเด็ก ๆ ถ้าเกิดกรณีเช่นนี้จะมีอาการ Panic ลนลานไปหมด ผมเคยทิ้งระเบิดใส่ตัวเอง สมัยบิน F-5 ไปทิ้งระเบิดจริงที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี พอทิ้งไป ตัว Mechanica มีปัญหาทำให้ระเบิดหลุดเฉพาะด้านท้ายของระเบิด พอหลุดปุ๊บลมตีกระแทกเครื่อง ด้วยความที่สลักระเบิดไม่ได้ถูกดึงออก ก็ควงลงมาอยู่ที่พื้นและไม่ระเบิด แต่เครื่องโดนระเบิดกระแทกไป ก็บินแข็งไปหมด Control เครื่องไม่ได้ ตอนนั้นมีครูการบินอยู่ด้วย ครูบอกว่าให้กางล้อพอทดลองดูก็แก้ปัญหาไปได้
เหตุผลที่ชื่นชอบอาชีพทหารอากาศ เพราะคุณพ่อเป็นไอดอล
พล.อ.ต.ระวิน เล่าย้อนให้ฟังถึงเหตุผล ที่ชื่นชอบอาชีพทหารอากาศว่า เพราะเป็นลูกหลานทหารอากาศ มีคุณพ่อเป็นแบบอย่างเป็นทั้งทหารอากาศและนักบิน จำความได้ก็เติบโตในกองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ รู้จักอา ๆ ที่เป็นทหารอากาศเยอะมาก แต่ตอนเด็ก ๆ รู้สึกว่าการเป็นนักบินไกลเกินเอื้อม เพราะไม่ใช่เด็กขยันตั้งใจเรียน ไม่ค่อยสนใจเรียนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะชอบเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ และติดทีมชาตินักเรียน สมัยอยู่โรงเรียน ภปร.ราชวิทยาลัย ตอนหลังรู้สึกว่าต้องหาความชัดเจน เริ่มให้ความสนใจเรียน ไปเรียนกวดวิชาและสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้ ก็เลือกเหล่าทหารอากาศตามรอยคุณพ่อ
เรียนจบเป็นศิษย์การบิน เลือกขับเครื่องบินขับไล่ที่มีสมรรถนะสูง ต้องไปประจำอยู่จังหวัดอุดรธานี 2 ปี ชีวิตพลิกเลย รับผิดชอบตัวเองค่อนข้างเยอะ จากที่เคยมีชีวิตอยู่ในกรงตลอด มีสภาพเป็นนักเรียนประจำมีกฎระเบียบเคร่งครัด ไปเริ่มบินกับเครื่อง F-5 ถือว่าท้าทายสำหรับนักบินจบใหม่ เพราะความเร็วสูงต้องตั้งใจ, สนใจ, ใส่ใจ ต้องมีความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ มีทั้งทักษะและมีสติ หลายอย่างประกอบกันหมด ความรู้ก็ทิ้งไม่ได้ จะใช้ Skills ทักษะอย่างเดียวไม่ได้ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นเราต้องใช้ความรู้แก้ไขปัญหาทุกอย่าง ที่สำคัญร่างกายต้องมีความพร้อมสูงด้วย
ครูที่ Frequency ตรงกันจะจูนได้ง่ายเวลาฝึก “นักบินทหาร” มีเงื่อนไข หลังจับคันบังคับ เที่ยวที่ 10 ต้องบินเดี่ยวได้
ครูและศิษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากัน ครูฝึกบินมีส่วนค่อนข้างมาก เพราะต้องคอยเป็น safety ให้เรา เปรียบเสมือนซื้อหวย ถ้าได้ครูที่ Frequency ตรงกัน ก็จะจูนได้ง่าย สอนเข้าใจง่ายเรารับรู้ได้เร็ว เพราะครูจะมีวิธีสอนและถ่ายทอดแตกต่างกัน ถ้า Frequency ไม่ตรงกันบางทีก็ลำบากหรือต้องใช้เวลาเยอะ ทำให้การพัฒนาของศิษย์อาจจะช้า ซึ่งการเป็นนักบินทหารจะมีเงื่อนไขกำหนด คือ ระยะเวลา , งบประมาณ ฯลฯ ทำให้ถูกจำกัดด้วยเที่ยวบิน 10 เที่ยวแรก ที่จับคันบังคับ เที่ยวที่ 10 คุณต้องทำการบินเดี่ยวได้แล้ว หลังจากนั้นครูก็จะมาสอนในแต่ละเฟส
ขับเครื่องบินรบครั้งแรก รู้สึกทุกอย่างเร็วไปหมด
ยังจำความรู้สึกแรกที่ได้ขึ้นบินเครื่องบินรบเมื่อ 30 ปีที่แล้วได้ดี บอกเลยว่าไม่ทันเพราะมันเร็ว แต่ด้วยความโชคดีตอนเป็นศิษย์การบินมัธยม เครื่องที่บินเป็นเครื่องไอพ่นที่มีความเร็วค่อนข้างสูง แต่ว่าก็ยังช้ากว่า F-5 เยอะ เพราะ F-5 สมรรถนะสูงวิ่งขึ้นจากอุดรไปหนองคายแป๊บเดียว จะทะลุออกไปประเทศลาวอยู่แล้ว (หัวเราะ) เครื่องเร็วมาก ไม่ทันจริง ๆ เที่ยวแรก มีความรู้สึกว่าอะไรก็เร็วไปหมด แค่เราคิดก็ไปถึงไหน ๆ แล้ว ตอนหลังเราเริ่มเร็วกว่าก็ปรับตัวได้
อยู่อุดร 2 ปีชีวิตก็ต้องเปลี่ยนแปลงต้องย้ายที่ เพราะฝูงบิน 231 เป็นเครื่องบิน F-5 ที่ตอนนั้นกองทัพอากาศปรับมาเป็น “เครื่องบินไฟเตอร์ ลีด-อิน” เป็นการฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น คือคนที่จะเป็นนักบินขับไล่ในแต่ละฝูง จะต้องมาฝึกที่ฝูงนี้ก่อน จากนั้นต้องย้ายไปบิน F-16 รู้สึกว่าต้องไปเริ่มใหม่และไม่มั่นใจ เพราะเป็นฝูงเดียวของประเทศที่เป็นอันดับหนึ่ง คือฝูง 103 อยู่ที่โคราช รู้สึกกดดันเพราะแต่ละคนที่ไปอยู่ หัวหน้านักเรียนเกือบทุกรุ่นระดับ TOP แล้วเราเป็นเด็กที่ชุลมุนมาตลอด
ต่อมาปรับตัวได้แล้วแต่ต้องย้ายไปบิน F-16 เพราะกองทัพอากาศซื้อเครื่องบินF-16 ใหม่ 1 ฝูง ไว้ที่ อ.ตาคลี ซึ่งผมขอสมัครไปเอง เพราะแรงบันดาลใจตั้งแต่เด็ก ๆ ที่เติบโตมาจากกองบิน 4 อ.ตาคลี รู้สึกว่าได้กลับไปบิน F-16 ที่กองบิน 4 จึงเลือกสมัครไป แต่หลายคนไม่สมัคร แม้ว่าทั้งเครื่องและฝูงใหม่ก็จริงแต่ไปอยู่ที่ อ.ตาคลี เมื่อเทียบกับเมืองโคราช Facility ของเมืองมันต่างกัน แต่ผมรู้สึกว่าพอแล้วกลับไปอยู่เมืองที่สงบ ๆ เมืองเล็ก ๆ ได้แล้ว ตอนนั้นที่โคราชกำลังเจริญโตเป็นเมืองใหญ่ มีห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น
Call sign ฉายา “Hollywood” ฝูงทั้งหมดร่วมโหวต จาก Character
ส่วนฉายา “Hollywood” มาจากการที่นักบินทุกคน ต้องมี Call sign (ใช้เรียกแทนชื่อของนักบิน ทั้งเพื่อปกปิดตัวตน ป้องกันนักบินชื่อซ้ำกัน อ่านยากสร้างความสับสน ชื่อยาวหลายพยางค์) เวลาขึ้นบินจะใช้ Call sign ของตัวเองติดต่อกับหอบังคับการบิน และจำง่ายเรียกง่าย เวลาภาษานักบินคุยหรือเรียกกัน ทุกคนจะมีครูการบินตั้งให้โดยจะมองจาก Character ของคน ๆ นั้น แล้วโหวตว่า คนนี้ควรจะมี Call sign อะไร ส่วนใหญ่จะตรงตามฉายา นักบินทั้งโลกทุกคนจะมี Call sign ก็จะเรียกกันแต่ Call sign ทุกวันนี้เพื่อนกัน เช่น เป็นนักบินสิงคโปร์เจอกัน เรียกกันไม่รู้ชื่อจริงชื่ออะไร พอเขาบอก Call sign ก็จะจำได้หมด Character ของแต่ละคนจะใช่เลย หรือนาวิกโยธินสหรัฐมาฝึก Call sign ET เดินมานี่รู้เลยเหมือน ET เป๊ะ (หัวเราะ) หรือ Call sign butterfly รู้เลยว่าคนนี้เจ้าชู้
นักบินเป็นอาชีพที่เครียด ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย เสี่ยงทุกวันล้อพ้นพื้นนั่นคือ ชีวิตคุณ 50 – 50 สมัยก่อนอยู่กันเป็น Unity ปัจจุบันเปลี่ยน เพราะ“มือถือ” เป็นเหตุ
“อาชีพนักบินถือว่าเป็นงานที่เครียด เพราะชีวิตค่อนข้างแขวนอยู่บนเส้นด้าย เสี่ยงทุกวันล้อพ้นพื้น นั่นคือ ชีวิตคุณ 50 -50 แล้ว จะกลับหรือไม่กลับไม่มีใครบอกได้ เฮฮาๆกันอยู่นั่งคุยกันอยู่ เพื่อนขึ้นบินบางคนไม่กลับมา ความจริงในแต่ละฝูงเราอยู่กันเหมือนครอบครัว ค่อนข้างรักกันเพราะอยู่ด้วยกันมากกว่าอยู่กับครอบครัว แต่ละฝูงค่อนข้างมี Unity สูง ก็จะมีกิจกรรมผ่อนคลาย คนที่จะเป็นกำหนดทิศทางของฝูงให้เป็นไปในทางที่ผ่อนคลายอยู่ที่ผู้ฝูง บางฝูงเหมือนกระดาษทรายฝืดมากเพราะ Character ของผู้นำเข้มข้น เอาจริงเอาจังและซีเรียส บรรยากาศฝูงนั้นก็จะเป็นแบบนั้นทั้งฝูง น้อง ๆ ก็จะกลัวหัวหด เช่น ห้องพักผ่อนนี้เด็กใหม่ห้ามเข้ามา ต้องไปนั่งข้างนอกไม่มีสิทธิ์เข้ามาใช้ ขึ้นอยู่กับแต่ละฝูงจะเซ็ตบรรยากาศของฝูงอย่างไร บางฝูงก็บันเทิงเริงรมย์เฮฮา”
สำหรับฝูงของผมอยู่กันแบบสุขนิยม (นึกถึงฝูงแล้วยิ้ม) ออกแนวคนสำราญงานสำเร็จ มีความเป็นกันเองกับน้อง ๆ มีอะไรก็พูด ต้องการอะไรก็บอก อยู่กันเหมือนพี่น้อง จะไม่เครียดแต่มีข้อเสีย คือวินัยอาจจะหย่อนยาน ต้องคอยตบ ๆ เข้ามา นักบินสมัยก่อนอยู่กันเป็น Unity เพราะสภาพแวดล้อม , สังคม วัฒนธรรมองค์กรและการใช้ชีวิตไม่มีโทรศัพท์มือถือ ตกเย็นก็ชักชวนกันทานข้าว ถึงเวลาก็ไปด้วยกันหมด เพราะทุกคนไม่มีรถ ที่ฝูงมีรถกระบะคันเดียวก็นั่งไปด้วยกันหมด กลับมาก็เล่นกีฬา วิธีการผ่อนคลายของเราคือเล่นกีฬา จัดกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ
แต่สมัยนี้ยากเพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ เป็นสังคมก้มหน้า อยู่ตัวคนเดียวได้ ตกเย็นกลับบ้านก็เงียบหาย นั่งเล่นวิดีโอเกมหรือไม่ก็ออกไปข้างนอกทุกคนมีรถหมด หายกันไปเลย นาน ๆ จะรวมกันทีต้องมานั่งบีบนิด ๆ ว่า อาทิตย์หนึ่งกินข้าวด้วยกันหนึ่งวัน ถามสารทุกข์สุกดิบ ต้องให้ความใส่ใจกับน้อง ๆ ถ้าปล่อยไปเลย มันหลุดมือไปแล้วดึงกลับมายาก ต้องรู้ตั้งแต่ทำท่าจะหลุด ต้องดึงกลับมาก่อน ปล่อยนานเกินไปบางทีกู่ไม่กลับ
ส่วนตำแหน่งการทำงานนั้น พล.อ.ต.ระวิน บอกว่า ชีวิตระหกระเหินมาก โดนเตะไปเตะมาไปทั่วทุกที่ (หัวเราะ) อาทิ เป็นผู้ฝูงที่กองบิน 1 โคราช เป็นผู้บังคับฝูง 103 อยู่ 2 ปี จากนั้นก็ย้ายกลับเข้ามาอยู่กรมยุทธการอีกปีหนึ่ง กลับไปเป็นเสนาธิการกองบิน 1 ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองบิน 1 แล้วก็เข้ามาเรียนวิทยาลัยการทัพอากาศ จากนั้นก็มาเป็นรองผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์ กรมกิจการพลเรือน 1 ปี จากนั้นก็กลับไปเป็นผู้บังคับการที่กองบิน 1 จึงได้ไปเป็น ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ก็เตรียมตัว 1 ปี และไปเป็นทูต 3 ปี ก็กลับมาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2563 มาถึงปัจจุบันนี้ครบ 1 ปีมาแล้ว จากนั้นเข้าเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับยุทธศาสตร์
ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากเป็นนักบิน ต้องมีใจรัก-อดทน-ฟิตภาษาอังกฤษไว้เลย เผย แนวคิด “ผบ.ทอ.” เปิดโอกาส พิจารณารับ เด็กสายตาสั้นเข้าทำงาน
สำหรับนโยบาย ของผู้บัญชาการทหารอากาศท่านปัจจุบัน ( พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ ) มีแนวคิดใหม่ให้โรงเรียนนายเรืออากาศ ลองพิจารณาว่าถ้ารับคนที่สายตาสั้นจะทำงานด้านอื่นได้หรือไม่ ถ้าเก่งจริง ๆ แต่สายตาสั้น เพราะสมัยก่อนถ้าสายตาสั้น ไม่สามารถที่จะเข้ามาเรียน หรือไปนักบินได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยได้ ให้สวมแว่นเรียนหรือสวมแว่นบินได้หรือไม่ หรืออาจจะเป็นนักบินโดรนสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับกองทัพ ถ้ามีใจรัก ที่สำคัญสุด คือ เตรียมตัวเตรียมใจเข้ามาตามรอยพวกพี่ ๆ ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เป็นยุค Digital ต้องเก่งกว่าอยู่แล้ว ก็น่าจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับกองทัพ และทำให้กองทัพพัฒนาก้าวกระโดดได้
“น้อง ๆ ที่อยากเป็นนักบินขับเครื่องบินรบ อยากเป็นทหารอากาศ อันดับแรก ใจต้องรักก่อน และต้องมีความอดทน เพราะชีวิตจะเปลี่ยนเลย อาชีพทหารเป็นงานที่มั่นคง และการเป็นนักบินรายได้ค่อนข้างสูง ข้อดี คือ ไม่ต้องไปขวนขวายหางานทำ จบมาเป็นข้าราชการทหารมีงานรองรับ นักบินเป็นงานที่ท้าทาย หากน้อง ๆ มีใจรัก จะมีความสุขทุกวันที่น้องทำงาน คือ การได้ขึ้นบิน แต่ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นต้องเตรียมตัวให้พร้อม ตั้งใจเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เพราะเป็นตัวทำให้คะแนนแตกต่างกัน”
ชีวิตรัก สมัยจีบ “ภริยา” ต้องใช้การเขียนจดหมาย สื่อสัมพันธ์ยาวนาน ร่วม 40 ปี ปัจจุบันมีโซ่คล้องใจ 2 คน
ชีวิตครอบครัวรู้จักกับภรรยา (คุณณาญาตา ถนอมสิงห์ หรือคุณแอล ปัจจุบัน เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ของ บริษัท การบินไทย) ตั้งแต่ปี 2528 จนมาวันนี้อีกไม่นานจะครบ 40 ปีแล้ว ตั้งแต่ผมเรียนเตรียมทหารปี 1 ส่วนคุณแอล เรียนอยู่ ม.5 บ้านของคุณแอลอยู่ซอยเดียวกับบ้านเพื่อนผม ก่อนเข้าโรงเรียนก็จะต้องเดินผ่านหน้าบ้านเขา พอได้พบเจอเขาแล้วชอบ เลยถามเพื่อนว่ารู้จักน้องบ้านนั้นไหม (พูดแล้วยิ้ม) เพื่อนบอกรู้จัก เลยได้คุยกันครั้งหนึ่ง ผมแอบไปส่องดูบ้านเลขที่แล้วเขียนจดหมายไปคุย สมัยนั้นติดต่อกันทางจดหมาย ภายหลังส่งไปที่บ้านไม่ได้แล้ว เพราะน้องชายเซ็นเซอร์ ต้องส่งไปที่บ้านเพื่อน ๆ ก็นำไปให้อีกที ความสัมพันธ์ก็ยาวนานมาเรื่อย ๆ
ปัจจุบันมีลูก 2 คน ไม่มีใครอยากเป็นนักบินเลย คนโตเป็นผู้หญิงเรียนอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนลูกชายคนเล็กเรียนอยู่ชั้น ม.6 วชิราวุธวิทยาลัย ไม่เอาเลยทหารอะไรก็ได้ ที่ไม่ใช่ทหาร แต่ชอบฟุตบอลเหมือนผม ภาษาดีชอบเรียนภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ เพราะตอนผมไปเป็นผู้ช่วยทูตทหาร ที่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ลูก ๆ ก็ตามไปด้วย ผมถามแล้ว ลูกบอกชอบเรียนรัฐศาสตร์ ก็น่าจะเป็นแนวรัฐศาสตร์การทูต ถ้าเค้าชอบแบบนั้นก็คงต้องให้เรียน จะไปบังคับไม่ได้ หลายคนที่ชอบบังคับให้ลูกเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร แล้วลูกไม่ชอบก็ต้องออกเสียเวลา จบเตรียมทหารแล้วก็ต้องออก หลายคนที่ผมเห็นจบมาแล้วไม่รักไม่ชอบอาชีพทหาร อยู่ไปก็ไม่มีความสุขเดี๋ยวก็ออก
“ภริยา” ชื่นชม ทำขนม – กับข้าวเก่ง – เข้าผู้ใหญ่เป็น เป็นกำลังใจกันและกัน ในระหว่างที่อยู่วัยเรียน
ด้านคุณณาญาตา ถนอมสิงห์ หรือคุณแอล พูดคุยด้วยน้ำเสียงสดใส เล่าย้อนถึงความหลังสมัยที่ พล.อ.ต.ระวิน มาจีบว่า รู้จักกันตั้งแต่แอลอยู่มัธยม 5 ส่วนพี่เอกอยู่เตรียมทหารปี 1 ตั้งแต่ปี 2528ปัจจุบันร่วม 36 ปี พี่เอกเป็นแฟนคนแรกและคนเดียว ใครเข้ามาจีบก็จะบอกว่ามีแฟนแล้ว สมัยนั้นมีคนมาจีบแอลไม่น้อย ช่วงนั้นคุณแม่ไม่อยากให้คบเพื่อนผู้ชาย อยากให้โฟกัสเรื่องการเรียนมากกว่า แอลก็ตั้งใจเรียนมาตลอด ส่วนน้องชายก็จะห่วงคอยเซ็นเซอร์จดหมายและโทรศัพท์ (หัวเราะ) มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนมัธยมแอลทำบุญบ้าน ญาติผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายพ่อและแม่มาร่วมงาน พี่เอกก็มาด้วย เจอญาติแอลด้วย ทุกคนโอเคหมดเพราะพี่เอกเข้าผู้ใหญ่เป็น ช่วยไปนิมนต์พระจากวัดมาให้ แล้วยังทำขนมลูกชุบมาร่วมงานถวายเพลด้วย ซึ่งขนมนี้ทำยากมาก ๆ (คุณแม่ของพี่เอกทำขนมและกับข้าวเก่ง พี่เอกช่วยเข้าครัวบ่อย)
เราต่างเป็นกำลังใจกันและกัน ในระหว่างที่อยู่วัยเรียน มีการแลกรูปภาพและเขียนจดหมายหากันเยอะมาก ๆ เรียนรู้กันไปเรื่อย ๆ ด้วยจดหมาย บางอาทิตย์ได้รับ 2 ฉบับ หรือวันหนึ่ง 2 ฉบับก็มี แต่จะเก็บจดหมายไว้ที่บ้านไม่ได้ เพราะน้องจะรื้อ ค้นเจอก็ไปฟ้องแม่ แอลก็เลยต้องนำจดหมายใส่กระเป๋าไปโรงเรียนด้วยทุกวัน คาบเรียนช่วงไหนว่าง ก็จะเทจดหมายบนโต๊ะ เพื่อนก็อ่านกันทั้งห้อง (หัวเราะ) ทำให้เพื่อนรู้จักพี่เอกไปพร้อม ๆ กับแอล และเชียร์คู่เรา เพราะพี่เอกเป็นผู้ใหญ่กว่าแอล น่าจะโอเคกว่าวัยเดียวกันที่มาจีบ ตอนนั้นที่ห้องเรียนใครมีแฟนก็มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง เป็น puppy love แต่ของแอลเพื่อนทั้งห้องรู้ด้วย ไม่ใช่แค่กลุ่มเล็ก ๆ
“แม้ว่าเราเรียนจบทำงานกันแล้วโทรศัพท์ก็มี แต่เรายังรู้สึกชอบที่จะเขียนจดหมายถึงกันมากกว่า เพราะเล่ารายละเอียดได้เยอะกว่า ก็ไม่คิดว่าในวันนั้นที่คุยกับผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นรุ่นพี่ อยู่เตรียมทหารแล้วจะมาถึงวันที่ได้แต่งงานกัน สร้างครอบครัวด้วยกัน”
รู้สึกโชคดี ได้สามีและพ่อที่ดี เลี้ยงลูกเก่ง ส่วนลูก 2 คน พี่ – น้องรักดูแลกัน
พี่เอกดูแลครอบครัวดี ทำกับข้าวเก่งและอร่อย โดยเฉพาะส้มตำเป็นที่เลื่องลือมาก และดูแลเลือกเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ให้ลูกและภริยา รองเท้ากระเป๋าทุกสิ่งอย่าง เรียกว่าเป็นสายช้อป ทุกวันนี้แอลมีหน้าที่แค่ทำตัวผอม ๆ ให้เหมือนเดิม ให้สวมเสื้อผ้าชุดเดิมได้แค่นั้นก็พอ (หัวเราะ) ตอนลูกคนโตเกิด ช่วงระหว่างที่แอลผ่าคลอด พี่เอกไปหาลูกก่อนแอล และขอนำลูกขึ้นมาเลี้ยงเองที่ห้องในโรงพยาบาล พี่เอกเลี้ยงลูกเก่งมาก อาบน้ำ ผลัดผ้าอ้อม เพราะแอลยังเจ็บแผลที่ผ่าคลอดอยู่
“รู้สึกได้ว่าเราโชคดีเพราะพี่เอกไม่ใช่แค่แฟนที่ดี สามีที่ดี แต่เป็นพ่อที่ดีด้วยมาก ๆ หลายคนยังพูดว่า พี่เอกทำได้ทุกอย่างยกเว้นการให้นมลูก เลี้ยงลูกทั้ง 2 คน เก่งมากจนแอลรู้สึกว่าไปฝึกเลี้ยงลูกมาจากไหน (พูดด้วยความภาคภูมิใจ) ลูกห่างกัน 3 ปี เลี้ยงง่ายทั้งคู่ แอลบอกพี่เอกว่าอยากมีลูก 2 คน เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะอยู่กับเขาได้นานแค่ไหน แอลต้องการให้มีคนที่สายเลือดเดียวกัน ช่วยเหลือกันไปจนตาย ตอนมีลูกคนแรกแอลไปทำงานต้องบินไปต่างประเทศ เขาจะร้องตามแอลมาก แต่ลูกคนที่ 2 ไม่เคยร้องตามเลย เพราะเขามีพี่สาวที่คอยดูแล แล้วแอ็คติ้งเหมือนแม่ทุกอย่าง เอายาให้น้อง สอนการบ้านน้อง เลี้ยงน้องได้ ความจริงน้องกลัวพี่สาวมากกว่าอีก พี่เรียกปุ๊บเดินมาหาทันที แม่เรียก โอ้โห! ไม่ค่อยจะมาเลย (หัวเราะ) ”
ปกติลูกสาวคนโตไม่เคยร้องไห้ดิ้นกับพื้น แต่เคยร้องไห้ดิ้นกับพื้นครั้งเดียว คือ เขาขออุ้มน้องในวันที่น้องเกิด อยากอยู่กับน้อง วันนั้นเรารู้สึกว่าเขารักน้องมากขนาดนี้เลยหรือ ความจริงแอลกลัวมาก ถ้าลูกอิจฉากัน ตั้งแต่รู้ว่าท้องก็ให้เขาตั้งชื่อน้อง คุยกับน้อง สิ่งหนึ่งที่แอลสวดมนต์ไว้ขอพรพระ คือ ขอให้พี่น้องรักกัน สุขภาพแข็งแรง แล้วก็ดีมากจนถึงทุกวันนี้ มีอะไรลูก ๆ ก็คุยกัน
เคล็ดลับชีวิตคู่ คือ ความรัก – อย่าโกรธข้ามคืน – ยอมรับข้อเสียกันและกัน
ส่วนเคล็ดลับในการเติมเต็มชีวิตคู่ คุณแอล บอกว่า พื้นฐานจริง ๆ ที่อยู่ถึงวันนี้ คือ ความรัก ความเข้าใจ อดทนให้อภัย ปล่อยวาง หรี่ตาบ้าง มีอะไรคุยกันอย่าโกรธกันข้ามคืน จริง ๆ แล้วทำไม่ได้ข้ามคืนก็มี (หัวเราะ) คนหนึ่งร้อนอีกคนต้องเย็น พี่เอกเป็นคนอารมณ์ร้อน ส่วนแอลเป็นคนขี้งอน มีอะไรลูกจะเป็นคนไกล่เกลี่ย ถ้า 2 คนทะเลาะกันลูกจะรู้แล้ว ถ้าแม่ไปขอนอนกับลูก ลูกจะพูดว่างอนคุณพ่อใช่ไหม(หัวเราะ) แอลคิดว่า อาจเหมือนทุกคู่ที่ทะเลาะกันบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องคุยกันตกลงกันว่าเราจะมีชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว มีเพื่อนของกันและกัน
ชีวิตครอบครัว โฟกัส “ลูก” เป็นหลัก ตั้ง LINE กลุ่ม keep in touch ตลอด หากิจกรรมร่วมกัน กระชับความสัมพันธ์ ปรับตัวให้เข้ากับลูกวัยรุ่น
พอมีลูกเราจะโฟกัสและเอาลูกเป็นหลัก เพราะกิจกรรมลูกทั้ง 2 คนเยอะมาก (ลากเสียงยาว) และไม่เหมือนกัน หรือเวลาคุยโทรศัพท์กันก็จะคุยเรื่องลูกเป็นหลัก เรื่องส่วนตัวก็มีบ้างนิดหน่อย ทุกวันนี้ลูก ๆ โตเป็นวัยรุ่นกันแล้ว ชอบเล่นกีฬาทั้ง 2 คน คนโตอายุ 21 เป็นนักรักบี้หญิงของมหาวิทยาลัย เป็นเชียร์ลีดเดอร์ กิจกรรมเยอะ แล้วเรียนคณะสถาปัตย์การบ้านก็เยอะ บางวันไม่ได้หลับได้นอน ไม่ค่อยอยู่บ้านเพราะต้องทำงานส่งอาจารย์ ส่วนคนเล็กอายุ 18 เลยรู้สึกว่าเหมือนเราโดนเทมากกว่า (หัวเราะ)
แต่เราจะใช้วิธีคุยกัน โดยตั้ง LINE กลุ่ม เมื่อไหร่ไปไหนให้บอกพ่อกับแม่ ต้องขอบคุณเทคโนโลยี ถึงเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอด แต่ก็เหมือนได้ keep in touch กันตลอด แอลมองว่าถ้าลูกไม่ติดต่อเรา ก็แสดงว่าเขามีความสุข แต่ถ้าติดต่อก็ แสดงว่าต้องการความช่วยเหลือ แต่ครอบครัวเราต้องคุยกันทุกวัน แม้ไม่ได้เจอกันหรืออยู่ต่างจังหวัด ยังไงก็ต้องคุยกันทุกวัน วันละ 2 เวลาอย่างน้อย ให้รู้ว่าอยู่ที่ไหนทำอะไรอยู่ “พยายามหากิจกรรมในครอบครัวทำร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ว่าอะไรที่ลูกชอบ เราเอาลูกเป็นหลัก ไม่อย่างนั้นห้องใครห้องมัน สังคมก้มหน้า เราก็จะดูอะไรที่ลูกชอบ เช่น ไปทานข้าวด้วยกัน พยายามหาเวลาที่ลงตัว ถ้าลูกไม่ว่างเราก็จะร้องคาราโอเกะกันสองคน วัยของลูกเปลี่ยน ความสนใจก็เปลี่ยนไปด้วย ตอนนี้ลูกวัยรุ่นเราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเขา ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง ดูข่าว อะไรของวัยรุ่น พยายามถามลูกจะได้มีเรื่องคุยกันไปเรื่อย ๆ แม้ว่าไม่ได้อยู่ด้วยกัน แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเราห่างกันไปไหน” คุณแอล กล่าวทิ้งท้าย