เกาะติดมุมมองที่แตกต่าง อีกหนึ่งนักแสดงที่เริ่มทำงานตั้งแต่วัยเด็ก จากประสบการณ์การทำงานในวงการ ต่อยอดสู่การเรียนรู้ พัฒนาการ และความเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนในโลกปัจจุบัน ด้วยตัวแปรสำคัญอย่าง สภาพแวดล้อม รายรอบตัว ที่มีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ…
ประสบการณ์ที่ผ่านมา
ผมเริ่มทำงานชิ้นแรก เป็นงานโฆษณาตั้งแต่ตอนอายุ 4 ขวบ ส่วนละครเรื่องแรกตอน 7 ขวบ เด็กมากๆตอนนั้น ยังไม่ค่อยรู้อะไร แต่ก็พอจำความได้บรรยากาศในกองเหมือนเป็นหน้าที่ที่ทำมาตลอด เค้าให้ทำอะไรก็ทำ ยังไม่รู้สึกว่ามันเป็นการทำงาน จนอายุ 15-16 ปี ถึงรู้สึกว่ามันเป็นงาน เป็นความรับผิดชอบครับ ตอนเด็กๆที่ทำงาน คุณแม่ก็ไม่ได้โฟกัสเรื่องค่าตัวอะไร เค้าจะมองว่างานเป็นเครื่องมือในการสร้างทักษะให้กับเรามากกว่าเป็นตัวชี้วัด เป็นกิจกรรมให้กับเรา ให้เรารู้จักวางตัวเวลาเจอคนเยอะๆ ละครจึงถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของเราตอนเด็ก ๆ เหมือนเราไปเล่นกีฬาก็เป็นกิจกรรมประมาณนั้นครับ แต่พอเราโตขึ้น เราก็จะเรียนรู้ได้เองจากเพื่อนๆนักแสดงวัยเดียวกันว่าทุกคนมาทำงานตรงนี้ บางคนเพื่อช่วยเหลือครอบครัว แต่สำหรับเราไม่ได้โฟกัสจุดนั้นครับ
เรียนรู้การจัดการด้านรายได้
ตั้งแต่เด็ก ๆ มาผมทำงานเยอะมาก นอกจากละคร ยังมีโฆษณาหลายชิ้นมาก ยังไม่รวมถ่ายแบบ เดินแบบ โชว์ตัวตามงานต่างๆ คุณแม่ก็จะเป็นคนเก็บเงินตรงนี้ไว้ให้ จำได้ว่าในรอบ 5ปีที่เราทำงานช่วงนั้น รายได้จากตรงนี้มันไม่ได้มากมายอะไร แต่แม้ว่าเราจะทำรายได้ตั้งแต่เด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่ ก็ไม่ได้ให้สิทธิพิเศษในเรื่องการใช้เงินมากกว่าเด็กคนอื่นๆ ก็ใช้จ่ายตามปกติ จนกระทั่งผมอายุ 15 เริ่มมีงานละครซิทคอม เป็นงานประจำ ผมก็จะบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่าไม่ต้องให้แล้ว ผมจะดูแลตัวเองได้ เหมือนเราเป็นผู้ใหญ่ในระดับหนึ่งแล้วตอนนั้น ผมยอมรับนะในช่วงแรก พอเราได้เงินมากขึ้น คือเงินจะเข้าทุกๆอาทิตย์ ก็อาจจะมีการใช้จ่ายมากขึ้นไปด้วย อยากได้อะไรก็ซื้อ เริ่มเลี้ยงเพื่อน ๆ บ้าง สนใจแบรนด์เนม ไปดาวน์รถ ไม่ค่อยควบคุมเท่าไหร่ เรียกได้ว่าเงินในส่วนนี้ผมแทบจะไม่มีเหลือเก็บเลย ส่วนเงินจากละครเรื่องหลัก ๆ ส่วนนั้นคุณแม่เป็นคนดูแล จนขยับมาอีกเสต็ปหนึ่ง ช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ผมก็จะคิดได้มากขึ้น เริ่มเซฟกับตรงนี้ ผมกลับไปมอง ด้วยความที่เราสามารถหาเงินได้เยอะ ๆ ได้เร็วกว่าคนรุ่นเดียวกัน เรามีโอกาสใช้เงินได้มากกว่า แต่พอเราสลัดออกไปได้ เราจะรู้จักตัวเรามากขึ้น เราก็รู้สึกละอายนะไม่น่าทำแบบนั้นเลย ทุกวันนี้ผมแทบ จะไม่ติดแบรนด์เนมเลย ผมอายที่จะใส่ มันเป็นความคิดที่ค่อยๆมา บางทีผมรู้สึกด้วยความที่เราเป็นเด็ก ด้วยวัยของเราด้วย แต่มีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่นเยอะๆ มันไม่ใช่ Nature เราเลย ที่จะทำตัวเด่นกว่าคนอื่นๆ มันทำให้เราเริ่มมองอะไรในระยะไกลมากขึ้น เริ่มหันมาลงทุน Property ซื้อคอนโด ด้วยความที่คุณแม่กลัวว่า เราจะใช้จ่ายหมดไปโดยเปล่าประโยชน์ คุณพ่อคุณแม่ก็มีส่วนสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ โดยปกติคุณพ่อคุณแม่ ท่านก็ไม่ได้เป็นคนฟุ่มเฟือยหรือหวือหวาอะไร แต่ท่านก็ไม่ได้ห้ามที่ผมจะใช้แบรนด์เนม คือมีเท่าไหร่ก็จะให้ลูก แต่อย่างที่ผมบอก พอถึงจุดๆหนึ่ง ด้วยNature ที่เราถูกหล่อเลี้ยงจากสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เราเป็น ซึ่งมันก็คือตัวตนที่แท้จริงของเรา เพราะเราก็คือพาร์ทหนึ่งของท่าน ดังนั้น วิธีคิดหรือการดำเนินชีวิตที่เราได้มาจากเค้า มันจะค่อยๆครอบคลุมนิสัยไม่ดีตรงนั้นไปเรื่อยๆ และทำให้เราเข้าใจในที่สุด ผมเชื่อว่าการอบรมเลี้ยงดูจากพ่อแม่จะส่งผลให้เด็ก ๆ ทุกคน ซึ่งผมทำงานกับเด็กกับเยาวชน เราจะเห็น Pattern ของเด็ก ๆ ตลอดเลยว่า เด็ก ๆ ทุกคนเหมือนเป็นผลผลิตของสภาพแวดล้อมที่เติบโตมา เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่กับพ่อแม่ก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้มาด้วย
ความรู้สึกแตกต่างสำหรับโลกในวัยเด็ก
ด้วยความที่เราเข้าวงการมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เรารู้สึกแตกต่างจากเพื่อนๆ มันกลายเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตลอด จำได้เลยช่วงที่เล่นละครแรก ๆ แล้วเรื่องนั้นเป็นที่นิยมมาก ผมไปเข้าค่ายกับต่างโรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนไทย นักเรียนด้วยกันก็จะเข้ามารุมเราหนักมาก เป็นครั้งแรกที่ทำให้เรารู้สึกแตกต่าง ไม่เหมือนกับเพื่อนๆเราคนอื่นๆ หลังจากนั้นไปไหนพอมีคนมาทัก มาขอถ่ายรูป ก็จะโดนเพื่อนซึ่งเป็นเด็กนานาชาติ ๆ แซว ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้มองว่าเราเหนือกว่าคนอื่นนะ กลับกลายเป็นเรามองว่าด้อยกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ อย่างมีครั้งนึงด้วยลุคเราดูเด็ก แต่สังคมเด็กนานาชาติจะโตไว แล้วผมต้องถ่ายปกแต่งเป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งจริง ๆ อายุผมตอนนั้น11-12 ได้แล้ว ไลฟ์สไตล์เราก็ค่อนข้างโตมากแล้วกับกลุ่มเพื่อน ก็จะโดนเพื่อน ๆ ล้อ มันเหมือนเราก็มีความอายนิดนึง สำหรับการทำงานในวงการบันเทิงกับสังคมเด็กนานาชาติที่เราอยู่ ผมพิ่งจะมารู้สึกว่าเค้า Respect กับผลงานของเราเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าเราจะรู้สึกมาตลอดว่ามันเป็นสังคมที่เค้าไม่ได้เสพสื่อที่เราทำงาน แล้วจะมองเราทั้งบวกและลบในเวลาเดียวกัน
ผลจากการทำงาน…สู่ชีวิตในปัจจุบัน
การที่เราทำงานตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่คุณแม่จะไม่ให้ขาดเรียน จะทำงานเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ ก็จะมีอารมณ์แบบบางทีอยากไปเที่ยวกับเพื่อน บางทีที่เราไม่ได้ไปวันเกิดเพื่อน เราก็จะไม่ข้าใจว่าทำไมเราต้องทำงาน แต่พอมองย้อนกลับไปวันที่เรา เรียนจบ คนอื่นๆยังหางานทำไม่ได้ แต่ผมทำงานมาแล้วตั้ง 20 ปี ตอนเด็กอาจจะนอยด์บ้าง แต่มันทำให้ล่วงหน้าคนอื่นๆไปเป็น 10ปี ดังนั้นความคิด ความอ่าน การเข้าหาคน มนุษยสัมพันธ์ ที่สำคัญคือการที่เราอยู่ได้ในทุกๆสังคม การอยู่กับผู้ใหญ่ในกองตั้งแต่เราเด็กๆ มันกลายเป็นอาวุธในการสร้างเนื้อสร้างตัวของเราการสร้าง Connection จากการที่เราอยู่และเจอกับคนเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นคนใหญ่คนโต ดาราดังๆ ทีมงานเราเจอคนใหม่ๆเข้ามาแทบทุกวัน ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ ที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นคนมากขึ้น ช่วยเหลือเราในการทำงานทุกวันนี้ได้เยอะมาก นี่คือเหตุผลที่ทำไมผมถึงสนับสนุนการศึกษานอกห้องเรียนในโครงการที่ผมทำอยู่ เพราะเรารู้ว่าเราได้อะไรจากการทำงาน จากการออกมาข้างนอก
สิ่งที่ควรเปลี่ยนแปลงสำหรับการทำงานในวัยเด็ก
สำหรับที่ผ่านมา ผมถือว่าคุณพ่อคุณแม่ผมบาลานซ์ชีวิตได้ดี ทั้งในเรื่องการเรียน การทำงาน และกิจกรรม การเล่นกีฬาต่างๆ แต่จะมีเรื่องการทำงานกับผู้ใหญ่ ตรงนี้มันทำให้อยู่เหนือการควบคุมจากคุณพ่อคุณแม่ของเรา อย่างเช่นกรณีที่เด็กจะต้องเข้าถ่ายทำจนถึงเวลาค่ำหรือต่อเนื่องถึงเช้า หรือตัวอย่างกองถ่ายต่างประเทศที่อาจจะยกเลิกคิวนักแสดงเด็ก ทั้ง ๆ ที่ไปรอในระยะเวลาหลายชั่วโมง โดยเค้าอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ ดังนั้น ถ้าถามผมว่าจะเปลี่ยนอะไรในช่วงเด็กที่ผ่านมา ผมจะไม่เปลี่ยนในสิ่งที่เราเป็น แต่ผมจะขอเปลี่ยนในเรื่องการ Support ความเป็นเด็กในเวลาทำงานครับ
“ข้อดี และ ข้อเสีย” เรียนรู้ที่จะอยู่ในวงการ
ข้อดี ได้เจอโลก ได้เจอคนหลากหลายรูปแบบ ได้เดินทางไปทั่วประเทศ ประสบการณ์ วินัยในการทำงาน ความอดทน ความเข้าใจมนุษย์ มนุษยสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน สุดท้ายคือเรื่องการ Manageคน การเข้าใจคนในหลากหลายรูปแบบ มันเป็นSkill ที่หาที่ไหนไม่ได้ เวลาผมจะทำงานอะไร ผมจะใช้แนวทางจากการทำงานในกองมาเป็นตัวช่วย อย่างการตั้งบริษัทของผม โครงสร้างทีมงาน ผมก็ประยุกต์ดัดแปลงมาจากโมเดลกองถ่ายทั้งหมดเลย ตลอดจนการเข้าใจการทำงานของแต่ละคน อีกอย่างที่ได้ จากการทำงานคือ การพูดต่อหน้าชุมชน วิธีที่จะทำให้คนเข้าใจเราได้ หลาย ๆ คนมีไอเดียที่ดี แต่ไม่สามารถถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องของมารยาท ซึ่งบางครั้งผมรู้สึกรับไม่ได้กับเด็กรุ่นใหม่ๆที่อาจจะมองข้ามเรื่องพวกนี้ คุณมีความคิดส่วนตัวได้ แต่คุณก็ไม่ควรเสียมารยาท
ข้อเสีย ยิ่งยุคนี้ เวลาเห็นเด็กคนนี้ทำพลาด พูดจาไม่ดี แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรง แล้วมีคนเข้าไปวิจารณ์ในกระทู้ ผมไม่เข้าใจตรงนี้จริง ๆ ซึ่งสมัยก่อนผมทำแย่ยิ่งกว่านี้อีก แต่ความที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดียมาก เด็กสมัยนี้ Position เค้าบอบบางมาก ยิ่งเข้าวงการจะทำอะไรพลาดไม่ได้เลย การแข่งขันก็สูง บางคนอายุยังไม่เท่าไหร่แต่ต้องไปแข่งกับคนที่อายุมากกว่าหรือสวยกว่า เรื่องของศัลยกรรมตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่าชีวิตการทำงานตรงนี้ จะเป็นตัวตนที่แท้จริงหรือเปล่า ตรงนี้มันจะส่งผลระยะยาวเลยทีเดียว หรืออย่างในบางกรณี สำหรับเด็กบางคนเข้ามาแล้วประสบผลสำเร็จทันที ไม่มีเวลาตั้งตัว แล้วกลายเป็นคนที่มีมูลค่าขึ้นมา ก็อาจเสี่ยงต่อการเสียคนได้ง่าย เรื่องของการบริหารชีวิตส่วนตัว บางคนที่อาจจะนำเรื่องพวกนี้มาเป็นสินค้าทั้งหมด ซึ่งถามว่าเป็นเรื่องสมควรมั้ย ที่สำคัญเรื่องของการสูญเสียชีวิตวัยรุ่นในบางช่วง ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารเวลามากกว่า และการที่พ่อแม่ทิ้งงานส่วนตัวหันมาโฟกัสกับการทำงานของลูกๆ ถือเป็นการสร้างแรงกดดันให้เด็กๆ ถ้าวันนี้ลูกๆ ไม่ทำงาน ทุกคนในครอบครัวจะลำบากกันทุกคน สิ่งเหล่านี้จะทำลายคนมาเยอะแล้วครับ
โซเชียลมีเดียกับเด็กรุ่นใหม่
ล่าสุด ยูเนสโก้ บอกว่าคำว่าTeenager วัยรุ่น แต่เดิมเริ่มตั้งแต่อายุ 13 ปี แต่ทุกวันนี้มันคือ 10 ปีแทน ต้องยอมรับว่าไวมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองด้วย เพราะอย่างเด็ก ๆ ที่มาเข้าค่ายกับผม แต่ผู้ปกครองไม่ให้ยุ่งกับโซเชียลเลยก็มี เด็กพวกนี้พอเวลาออกไปข้างนอก ไปเจอสังคม เค้าจะมีความแกร่งในอีกแบบนึงเลย ในทางกลับกันเด็กที่ติดอยู่กับหน้าจอ เค้าก็จะอยู่กับโลกส่วนตัว แต่จะขาดในเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ มีเรื่องล่อแหลมในการเข้าสืบค้นข้อมูลต่างๆ การเข้าเว็บไซต์ที่มีการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม เว็บไซต์ของผู้ใหญ่ได้ง่าย ดังนั้น เราต้องโฟกัสที่การสร้างความแข็งแกร่งทางด้านจิตใจให้กับเด็ก มันไม่ได้อยู่ที่การเรียนรู้เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเติบโตที่ครอบครัวจะมอบให้เค้าได้ ครอบครัวจะต้องแก้ไขหรือดัดแปลง แต่ปัญหาคือพ่อแม่ยังไม่เข้าใจปัญหาในเด็กยุคนี้ ก็เลยยังมีความปล่อยกันอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
โอกาสและการพัฒนาที่มาพร้อมกัน
ฝากเตือนผู้ปกครอง อย่าเอาแรงกดดันที่มีอยู่ในตัวไปสร้างแรงกดดันหรือถ่ายทอดให้กับลูก ๆ บางทีเราอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว สำหรับเด็ก ๆ อยากจะบอกว่า เรื่องโอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าหน้าตาดีอย่างเดียวแล้วจะมีโอกาสเข้ามายืนตรงนี้ได้ จะมีไม่กี่คนที่จะมายืนตรงจุดนี้ได้จริง ๆ หลาย ๆ คนบางทีไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่แรก แต่ถ้าเรามีการพัฒนาในส่วนของฝีมือ พัฒนาในภาพลักษณ์ของตัวเอง ยังไงวันนึงต้องมีคนเห็นแน่นอน แล้วมันจะต่อยอดได้ เรื่องของจังหวะของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันด้วย ทั้งหมดทั้งมวลมาต้องมาจาก Hardwork คำนี้จริงๆ
พัฒนาการของเด็กในวันนี้
การพัฒนาของเด็กก้าวไปเร็วมาก จากการที่สัมผัสกับเด็ก ๆ ในค่าย เด็กอายุ 9-10 ขวบ พูดคุยกับผมเรื่อง ดอนัลด์ ทรัมป์ มันกลายเป็นเรื่องปกติของเค้าไปแล้ว หรืออย่างเด็กอายุแต่ 6 ขวบ แต่สามารถอ่านตารางธาตุ ซึ่งมันเป็นเรื่องแปลกและแตกต่างกับสมัยผมเป็นเด็ก ๆ มาก แต่ในด้านที่ต้องระวังคือ เรื่องของการเติบโตในส่วนของโซเชียล มันมีความเสี่ยงเยอะโดยเฉพาะในเด็กผู้หญิง การคุยกับคนอื่นในโลกออนไลน์ โดยไม่รู้ว่าเค้าเป็นใครและคิดอะไรกับเราอยู่ บางเคสค่อนข้างน่าตกใจ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีแบบนี้แน่นอน การอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองที่มีทั้งดีและไม่ดีก็เช่นกัน สังคมมันแตกต่างจากยุคก่อนมาก สิ่งที่ผมอยากให้โฟกัสในการพัฒนาเด็ก ๆ ยุคนี้ คือการสนับสนุนการเรียนนอกห้องเรียนให้ได้เยอะที่สุด อย่างที่บอกไปตอนแรก ต่อไปมันอาจจะหมดยุคที่ต้องให้ความสำคัญกับการสอบ ผมเชื่อว่าทุกคนมีทักษะของตัวเอง ทุก ๆ คนมีสิ่งที่ตัวเองเก่งและไม่เก่ง แต่ถ้าเรามีOption มีพื้นที่ให้เค้าได้เลือกได้เยอะคนก็จะยิ่งหาเจอได้ง่าย แต่ถ้าต้องครอบคลุมตลอดเวลา ไปกำหนดว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ มันจะไม่มีทางออกจากจุดนั้นไปได้เลย หรือออกมาไม่เป็น อย่างตอนที่ผมทำวิจัย ผมศึกษาเรื่องการเจริญเติบโตของเด็ก มันบอกได้เลยว่าสภาพแวดล้อมสำคัญที่สุด ผู้ปกครอง คนรอบข้าง ที่โรงเรียนอำนวยหรือไม่อำนวย ให้เค้าได้นำความคิดของเค้าออกมา ได้หาทักษะอื่น ๆ ออกมา เราได้มองตรงนั้นหรือเปล่า เราควรจะต้องให้ควาสำคัญกับระบบการศึกษาด้วยครับ”