ก่อนที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จะเปิดให้จับจองบัตรการแสดงโขนมูลนิธิฯ ปี ๒๕๖๕ ตอน “สะกดทัพ” ในเดือนสิงหาคมนี้ อยากชวนมาทำความรู้จักนักแสดงมากฝีมือที่มีแฟนคลับหลากรุ่น รวมทั้งเป็นไอดอลของวงการที่มีผู้ติดตามผ่านช่องทางโซเชียลจำนวนมาก พร้อมเปิดหน้าค่าตามาทำความรู้จักกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และจะมาบอกเล่าถึงบทบาทที่พวกเขาได้รับในการแสดงโขนมูลนิธิศิลปาชีพฯ ที่กำลังจะกลับมาโลดแล่นบนเวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติอย่างแน่นอน ในช่วงปลายนี้!

ดร. เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวที การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ cปี ๒๕๖๕ ตอน “สะกดทัพ” เผยว่า “นักแสดงโขนมูลนิธิฯ ใน  ปีนี้ นอกจากเยาวชนที่ผ่านการเฟ้นหาจากทั่วประเทศ  ยังจะประกอบด้วยกลุ่มศิลปินและอาจารย์นาฏศิลป์ฝีมือดี นักแสดงของสำนักงานสังคีต กรมศิลปากรซึ่งเป็นที่รู้จักของแฟนคลับโขน รวมถึงนักแสดงโขนมูลนิธิฯ ที่เคยผ่านการออดิชั่นจากปีก่อน ๆ จึงเรียกว่าคุ้มค่ามากสำหรับผู้ชมทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับหรือผู้ที่จะเริ่มการดูโขนเป็นครั้งแรก”

เริ่มจากนักแสดงหนุ่มมากฝีมือ วุฒิชัย นราแก้ว หรือ “ครูบาส” ของนักเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์ ผู้เคยรับบทบาทเป็นตัวเอกอย่างอินทรชิต ในการแสดงโขนมูลนิธิฯ ชุดศึกอินทรชิต ตอน “นาคบาศ” รวมทั้งรับทบาททศกัณฐ์ ในตอน “สืบมรรคา” และสำหรับครั้งล่าสุด ตอน “สะกดทัพ” จะรับบทบาทโดดเด่นเป็นไมยราพ  (สะกดตามบทพระราชนิพนธ์ ร. ๑ ซึ่งใช้สำหรับการแสดงครั้งนี้) พญายักษ์เจ้าเมืองบาดาล ผู้มีเวทมนตร์สะกดทัพ และเครื่องสรรพยาเป่ากล้องล่องหนเป็นอาวุธ

วุฒิชัย เล่าถึงตัวละครไมยราพ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานของทศกัณฐ์ ว่าเป็นยักษ์ที่รักสันโดษ อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล มีบุคลิกค่อนข้างดุดัน มุทะลุ มีความรวดเร็ว ว่องไว กระฉับกระเฉง และมีเวทมนตร์คาถา ฉะนั้นลีลาท่ารำจะแตกต่างจากทศกัณฐ์ นับเป็นคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นกว่าตัวละครยักษ์ที่เคยแสดงมา “สำหรับตอน นี้ มีหลายฉากที่ท่วงท่าการรำจะต้องใช้ทักษะค่อนข้างมาก ทั้งรำประกอบบท รำเพลงหน้าพาทย์ และต้องตีบทบาทในแต่ละตอน  มีหลายฉากสนุกชวนติดตาม อย่างฉากหุงสรรพยา หรือฉากที่ต้องใช้ความแข็งแรงอย่างมาก เช่นตอนที่ไปลักพาตัวพระรามที่จะมีการแบกพระรามขึ้นไหล่”

เอฟซี “ครูบาส” สามารถติดตามผลงานและความเคลื่อนไหวได้ทุกแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้ง Facebook: WutthichaiNarakaew IG:@baswuttichai และ Youtube: BasWuttichai

นักแสดงหนุ่มหน้ามนที่รักในศิลปวัฒนธรรมไทย ผู้มีความสามารถทั้งการแสดงโขนและศิลปะการต่อสู้ พรเลิศ พิพัฒน์รุ่งเรือง หรือ “ครูเอ็กซ์” นาฏศิลปินชาย โขนลิงแห่งสำนักการสังคีต กรมศิลปากร เจ้าของฉายา “ลิงรูปหล่อ” ผู้มีฝีไม้ลายมือทางด้านการแสดงนาฏศิลป์ไทยที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใคร และเคยฝากฝีมือการแสดงในภาพยนตร์เรื่อง ๔๐๐ นักรบ ขุนรองปลัดชู เมื่อปี ๒๕๖๑ อีกด้วย

พรเลิศ เริ่มเล่นโขนมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๗ โดยถูกฝึกให้เล่นเป็นตัวลิง ตอนเด็กก็จะเริ่มเล่นลิงเล็ก ๆ แล้วก็พัฒนาไปเป็นลิง ๑๘ มงกุฎ ลิงพญา กระทั่งได้ร่วมแสดงเป็นหนุมาน ทหารเอกของพระราม  นับตั้งแต่การแสดงโขนมูลนิธิฯ ตอน “นางลอย” เมื่อปี ๒๕๕๓ และร่วมแสดงโขนมูลนิธิฯ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

“สำหรับบทหนุมานในตอนสะกดทัพ ก็ยังคงความเป็นทหารเอกของพระรามที่เก่งกล้าเฉกเช่นทุกปี  โดยคุณสมบัติเด่นของผู้แสดงเป็นหนุมาน ต้องมีความคล่องแคล่วสูง บางครั้งก็ต้องกระโดดตีลังกา ทำให้ต้องใช้พละกำลังค่อนข้างมาก ร่างกายต้องแข็งแรงสมบูรณ์ ความจำต้องแม่นยำ และมีไหวพริบปฏิภาณในการแสดงด้วย”

แฟนคลับสามารถติดตามผลงานของ “ครูเอ็กซ์” ได้ที่ Facebook : X Phornloet Phiphatrungrueang IG : xppig.rider.v.28 และ Tiktok : xphornloet

อีกหนึ่งนักแสดงหนุ่มหน้าใสขวัญใจวัยรุ่น ญาณวุฒิ ไตรสุวรรณ หรือ “ครูกาย” ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนโขนยักษ์ คณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้มีแรงบันดาลใจจากแฟนคลับโขนวัยเยาว์ สู่นักแสดงโขนฝีมือดี ที่ร่วมการแสดงบนเวทีแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง โดยผ่านการออดิชั่นกับโขนมูลนิธิฯ เป็นนักแสดงรุ่นใหม่ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนอยู่ชั้นม.๕ วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช และร่วมแสดงครั้งแรกเป็น ไพร่พลยักษ์ระดับพลทหาร ในการแสดงโขนมูลนิธิ ชุดศึกกุมภกรรณ ตอน “ศึกโมกขศักดิ์” นับจากนั้นก็ได้ร่วมการแสดงในตอนต่างๆ เรื่อยมา โดยได้รับบทบาทยักษ์มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น ยักษ์กุมารวิรุญมุข อินทรชิต พิเภก  และได้รับบทอินทรชิตอีกครั้งในการแสดงโขนครั้งนี้

ญาณวุฒิ เล่าถึงตัวละครอินทรชิตที่แม้ไม่ใช่ตัวหลักแต่ก็มีบทบาทสำคัญในฐานะลูกของทศกัณฐ์ ทั้งยังเป็นยักษ์หนุ่มที่มีคาแรคเตอร์ที่น่าสนใจตรงการเป็นยักษ์ลูกผสมระหว่าง ยักษ์ มนุษย์ และนางฟ้า สังเกตได้ว่าหน้าตาจะแตกต่างจากยักษ์ตัวอื่น คือ มีจมูกและหูเหมือนคน รวมทั้งไม่ใช่ยักษ์ป่าเถื่อน แต่มีความเป็นเจ้าชาย เนื่องจากเป็นลูกกษัตริย์ และเป็นยักษ์หนุ่มที่มีความปราดเปรียว แข็งแรงคล่องแคล่วว่องไว นักแสดงที่จะมารับบทบาทจึงต้องมีรูปร่างสันทัด มีความคล่องแคล่ว คล่องตัว และแข็งแรง

“สำหรับการแสดงในปีนี้ ในฐานะนักแสดงรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้กลับมาสู่บรรยากาศการแสดง ซึ่งห่างหายไปถึง ๒ ปี เชื่อว่าผู้ชมจะได้รับทั้งความตื่นตาตื่นใจ หายคิดถึง และได้ชมความงามของนาฏกรรมไทยที่คุ้มค่าแก่การรอคอย และอยากเชิญชวนคนรุ่นใหม่ให้มาชมการแสดงโขนมูลนิธิฯ ที่จะทำให้ได้รู้จัก และหลงรักโขนในที่สุด”

แฟนด้อม “ครูกาย” ฝากติดตามเป็นกำลังใจได้ทาง IG:@sky_yarnawut และFacebook: YarnawutTraisuwan

ปิดท้ายกับศิลปินรุ่นใหญ่ที่คร่ำหวอดในวงการมากว่า ๓๐ ปี ที่นอกจากจะเป็นที่รู้จักของแฟนคลับโขน รุ่นใหญ่แล้ว ยังเป็นไอดอล และแรงบันดาลใ จของนักเรียนนาฏศิลป์มากมาย วัชรวัน ธนะพัฒน์ หรือ “ครูหนู” ศิลปินสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ผู้มีฉายา “ทศกัณฐ์แห่งกรมศิลปากร”

วัชรวัน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงโขนมูลนิธิฯ นับตั้งแต่ครั้งแรกใน ตอน “นางลอย” เมื่อปี ๒๕๕๓ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และเคยได้รับบทบาทเป็นมัยราพณ์ เมื่อครั้งที่มีการแสดงโขนตอน “ศึกมัยราพณ์” เมื่อปี ๒๕๕๔  ตอนนั้นได้ร่วมแสดงในฉากเป่าสะกดทัพจับพระราม และฉากรบในดงตาล ซึ่งการแสดงครั้งนั้นยังเป็นความประทับใจมาจนวันนี้

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิฯ ตอน “สะกดทัพ” รับบทบาททศกัณฐ์ กษัตริย์แห่งกรุงลงกาหนึ่งในตัวเอกของเรื่องรามเกียรติ์  ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “แม้ว่าจะมีบทไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นตัวละครที่มีความสำคัญ เพราะแต่ละศึกในรามเกียรติ์ จะมีทศกัณฐ์เป็นตัวละครที่เปิดเรื่องราวทั้งสิ้น รวมทั้งท่วงท่าการรำของทศกัณฐ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนั่งรำที่อาจดูเหมือนง่าย แต่จริง ๆ ต้องอาศัยการฝึกซ้อมอย่างมาก เพราะต้องถ่ายทอดพลังผ่านท่วงท่ารำ ที่ต้องผสมผสานความเข้มแข็งและอ่อนช้อยเข้าไว้ด้วยกัน”

สำหรับเหล่าแฟนโขนทุกรุ่น สามารถติดตามผลงานของ “ครูหนู” วัชรวัน ได้ทาง Facebook : Watcharawan Tanaphat และ IG : Nuu_watcharwan

ยืนยันความเป็นแฟนคลับตัวจริง สิงหาคมนี้ ต้องรีบมาจองบัตรการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ประจำปี ๒๕๖๕ ตอน “สะกดทัพ” มีกำหนดจะเปิดการแสดงแน่นอน ปลายปีนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ติดตามข่าวสารการจำหน่ายบัตรเข้าชมและความเคลื่อนไหวต่างๆ ได้ทาง เว็บไซต์ www.khonperformance.com และเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here