กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เสริมแกร่งผู้ประกอบการผ่านการสัมมนาออนไลน์ แชร์กลยุทธ์ธุรกิจไทย…สู่ตลาดจีนหลังโควิด เพื่อปลดล็อกผู้ส่งออกไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม จากวิทยากรที่เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ในเวทีการค้าจีน เน้นย้ำการดำเนินงานของ วว. ที่มุ่งขับเคลื่อนเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2564 ผ่านระบบ zoom
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ประธานเปิดการสัมมนาฯ กล่าวว่า วว. มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในด้านการวิจัย พัฒนา และสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ร่วมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิต ผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งเร่งรัดการให้บริการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อสร้างประโยชน์มูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ส่งผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วว. ในฐานะองค์กรภาครัฐได้ทบทวนและปรับทิศทางการทำงานอย่างเร่งด่วน ให้สอดรับกับบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก ตลอดจนเล็งเห็นช่องทางในการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ในกระแสของการเปลี่ยนแปลง ที่มีระบบสารสนเทศเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานมากขึ้นตามลำดับ
“…การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทบาทภารกิจ วว. ด้านการบริการอุตสาหกรรม ที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้าน วทน. ที่ วว. มีศักยภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาและปลดล็อกให้แก่ภาคธุรกิจ SMEs ภาคอุตสาหกรรม ให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มจะคลี่คลายสู่ภาวการณ์ปกติในระยะเวลาอันใกล้นี้ วว. พร้อมเป็น Total Solution สนับสนุนการดำเนินงานและช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ให้มีความพร้อมรองรับในกระบวนการ ขั้นตอนการผลิตสินค้า การบริการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการด้านการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยเป้าหมายที่วางไว้ในที่นี้คือประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตลาดที่ฟื้นตัว มีกำลังซื้ออย่างมาก และจะเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในอนาคต…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาว่า เพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมการนำ วทน. มาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างธุรกิจ โดยสนับสนุนภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ให้ตื่นตัวและขยายไปสู่การสร้างโอกาสการลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพสูงในภูมิภาค ได้แก่ ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตลาดการค้าใหญ่ของโลก และหลายประเทศให้ความสนใจที่จะทำการค้าด้วย รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ โดยยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการ ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิชาการกลุ่มบริการอุตสาหกรรมของ วว. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ร่วมผลักดัน กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย ภาคธุรกิจ SMEs ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของ วว. และผลสรุปความคิดเห็นจากการสัมมนาครั้งนี้ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วมสัมมนาจำนวน 112 คนนั้นจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ด้วยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์บทบาทงานบริการของ วว. ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ
โอกาสนี้ วว. ได้รับเกียรติจากวิทยาการที่มีความเชี่ยวชาญในเวทีการค้าจีนร่วมแชร์และถ่ายทอดความรู้ ดังนี้
นายหลี่ เผย กรรมการสถาบันความร่วมมืออุตสาหกรรมไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยบรรยายพิเศษเรื่อง การตลาดจีนและการค้ารูปแบบ Cross Border ว่า สังคมหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงมาก ประชาชนจีนจะซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขายสินค้าที่จีนให้ได้มากขึ้นและจะประสบผลสำร็จได้นั้น ผู้ประกอบการต้องสร้างแบรนด์สินค้า สร้างความเชื่อมั่นและเตรียมสินค้าให้พร้อม มีการจดทะเบียนการค้าที่จีน คัดเลือกวิธีการส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ โดยจะส่งตรงไปที่จีนเลยหรือเก็บไว้ในโกดังที่จีนแล้วทำการขายต้องพิจารณาให้เหมาะสม รวมทั้งต้องเลือกแพลตฟอร์มการขายที่เหมาะสม เน้นการใช้ภาษาจีน เพิ่มการ live สด ในโกดังสินค้าหรือโรงงานผลิตประกอบการขายเพื่อแสดงและยืนยันว่าสินค้ามีอยู่จริง นอกจากนั้นจะต้องเลือกกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้เจาะจงมากขึ้น
นายจิน รุย หวาง Marketing Manager (China Market) บริษัทเลเทกซ์ ซิสเทมส์ จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษเรื่อง ปัญหาและอุปสรรค เรื่องจริงต้องรู้ ก่อนเข้าสู่ตลาดจีน ว่า ประเทศจีนมี 300 กว่ามณฑล โดยมี 10 มณฑลเป็นตลาดที่มีศักยภาพซึ่งผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจเข้าไปค้าขายคือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เสินเจิ้น เทียนจิน เฉิงตู ซูโจว หางโจว ฉงชิ่ง และอู่ฮั่น โดยสินค้าครองใจชาวจีนที่ได้มาเที่ยวประเทศไทยก่อนโควิด-19 ระบาด จำนวนกว่า 20-30 ล้านคน คือ อาหารไทย จุดท่องเที่ยวในประเทศไทย เครื่องสำอางและผลไม้ไทย จากการระบาดของโควิด-19 ลูกค้าจีนจะสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นผ่านแพลตฟอร์ม live สด และร้านค้าปลอดภาษี เครื่องมือที่จะช่วยผู้ประกอบการไทยประสบผลสำเร็จ คือ 1.ใช้บริการโฆษณาของจีนซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่แพง ได้แก่ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ โบรชัวร์ แมกกาซีน 2.หาตลาดตัวแทนในจีน 3.ออกบูธแสดงสินค้า และ 4.บริการ OEM ให้ลูกค้าจีน นอกจากนี้การประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 การจดทะเบียนการค้าที่จีน การจัดทำฉลากสินค้าเป็น 3 ภาษาคือ ไทย จีน ภาษาอังกฤษ รวมทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมตอบโจทย์ด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จะสร้างความเชื่อถือในสินค้าและทำให้ผู้ประกอบการไทยประสบผลสำเร็จในตลาดการค้าจีน
คุณชิยาวรรณ จงวัฒนา อัครราชทูตฝ่ายการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง บรรยายพิเศษเรื่อง วทน. ปลดล็อกผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดจีน ว่า ประเทศจีนมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่และเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกรองจากสหรัฐอเมริกา การแข่งขันการค้าในจีนสูงและมีความท้าท้ายมาก สำหรับผู้ประกอบการไทย ทั้งนี้ภาครัฐและเอกชนไทยต้องร่วมมือกันเพื่อรักษาฐานเศรษฐกิจในจีน ซึ่งไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของจีนในตลาดอาเซียน และอันดับที่ 11 เมื่อเทียบในระดับโลก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและภาวะการแข่งขันในปัจจุบันนั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความจำเป็นยิ่งที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องให้ความสำคัญและนำมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานเพื่อแข่งขันในตลาดค้าจีน อาทิ ด้านการเกษตร ตั้งแต่การปลูก การเลี้ยงที่ใช้สารเคมีน้อยลง ได้มาตรฐานสากล เน้นการปลูกระบบปิดมากขึ้น มีการควบคุมสิ่งแวดล้อม เน้นพืชออร์แกนิกส์เพิ่มผลผลิตต่อไร่มากขึ้น เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุสินค้าและปกป้องคุ้มครองระหว่างการขนส่ง และให้ความสำคัญกับการตรวจสอบระบบคุณภาพของสินค้า นอกจากนี้สินค้าด้านอุตสาหกรรมผู้ประกอบการไทยจะต้องผลิตสินค้าที่ไฮเทคมากขึ้น เน้นกระบวนการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หากผู้ประกอบไทยให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวก็จะประสบผลสำเร็จในตลาดการค้ากับจีนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นอกจากการบรรยายพิเศษดังกล่าว ยังมีการเสวนากลุ่ม เรื่อง วทน. เพื่อยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาหารและเกษตร กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ สู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาผ่านการปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมต่อไป