ความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจละเยาวชนคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน คือเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่ออนาคตของเยาวชนและการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจ องค์ความรู้คือภูมิคุ้มกันสำคัญที่จะทำให้ประกอบอาชีพพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดได้ในยุคดิจิทัลที่การตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาท จึงจำเป็นต้องเรียนรู้จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยน และสร้างความสำเร็จบนเส้นทางของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
จากการสำรวจเบื้องต้นของมูลนิธิเด็กโสสะฯ ซึ่งมีเยาวชนอยู่ในความดูแลประมาณ 80 คน พบว่าเยาวชนจำนวนหนึ่งสนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการ และความต้องการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ “Empower young people” ของมูลนิธิฯ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเยาวชน ซึ่งจะเป็นกำลังหลักในการก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานและการประกอบอาชีพ
การส่งเสริมศักยภาพเยาวชนให้มีทักษะดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะโลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อขายให้ย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ อีกทั้งสตาร์ทอัพธุรกิจเล็กๆ ที่อาจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ , เดลิเวอรี่ ที่ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ประกอบธุรกิจได้ และด้วยปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมายที่จะเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจง่ายขึ้น ดังนั้นเยาวชนควรที่จะมีทักษะองค์ความรู้เหล่านี้เป็นต้นทุนBusiness Model Canvas ก้าวแรกของเยาวชนที่จะลงสนามผู้ประกอบการ
นอกเหนือจากการสร้างผลิตภัณฑ์และการหาวิธีทางการตลาด อีกเครื่องมือหลักที่จะต้องเรียนรู้หากจะทำธุรกิจคือ Business Model Canvas (BMC) โดยอาจารย์ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส Food Innopolis สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ให้หลักการวิเคราะห์การตลาดอย่างรอบด้านทั้ง 9 หัวข้อ
1. Customer Segments กลุ่มลูกค้าของเรา
2. Value Propositions คุณค่าที่ส่งมอบให้กับลูกค้า
3. Channels ช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้า
4. Customer relationships ความสัมพันธ์กับลูกค้า
5. Revenue Streams รายได้หลักของธุรกิจ
6. Key Resources ทรัพยากรหลักของธุรกิจ
7. Key Activities กิจกรรมหลักที่ช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ
8. Key Partners พันธมิตรหรือหุ้นส่วน
9. Cost Structure ต้นทุนในการทำธุรกิจทั้งหมด
BMC จะทำให้เห็นทั้งจุดเด่น จุดด้อย อะไรเหลืออะไรขาด เห็นภาพรวมของธุรกิจได้ชัดเจน และทำให้เกิดความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ที่สำคัญ BMC จะพาไปหาคำตอบที่ว่าทำไมผู้ซื้อถึงต้องเลือกเรา
Digital Media Ecosystem ถึงจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หากรู้จักเชื่อมโยง ยังไงก็เป็นต่อ เมื่อการขายของออนไลน์กลายเป็นเรื่องง่าย จึงทำให้มีผู้ค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย คู่แข่งขันก็ดุเดือด การทำธุรกิจสินค้าออนไลน์ให้ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นต้องสร้างคอนเทนต์ (Content) สื่อสารไปที่กลุ่มเป้าหมายอย่างตรงประเด็น และต้องรู้จักใช้เครื่องมือในการทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่พื้นฐานการใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ , การวางโครงสร้างสื่อ , การใช้สื่อและการจัดทำแผนสื่อ , การสร้างเพจ และการยิงแอด อาจารย์เดชา วัฒนสุพงษ์ (โค้ชหมี) กรรมการผู้จัดการบริษัท คิดมีฤทธิ์ จำกัด กล่าวว่า ในการทำการตลาดออนไลน์ต้องมีเทคนิคในการขาย และหนึ่งในเทคนิคคือ การนำเสนอในจังหวะ และช่วงเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นการวางกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในการทำการตลาดออนไลน์ เพราะจะทำให้สามารถวางกลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ได้อย่างแม่นยำ เช่น การทำคอนเทนต์ได้โดนใจตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างไม่พลาดเป้า
Storytelling เรื่องเล่า เพิ่มยอดขาย
เมื่อมีผู้ขายบนโลกออนไลน์มากขึ้น Storytelling หรือการสร้าง Story จะทำให้เราต่างและโดดเด่น สามารถเพิ่มโอกาสในการขายได้โดยการสร้างเรื่องราว ในมุมมองที่แตกต่างจากตลาดทั่วไป อาจารย์นราธิป อ่ำเที่ยงตรง กรรมการบริหาร บริษัท ฮาบิ 32 จำกัด กล่าวว่าทริคในการสร้าง Story คือ ให้คิดเป็นภาพออกมาว่า อยากให้ธุรกิจ-ผลิตภัณฑ์ของเรามีคาแรคเตอร์แบบไหน และเพื่อมอบคุณค่านี้ให้ใคร คนนั้นมีบุคลิกอย่างไร ? ต้องมีการปรับเปลี่ยนหยิบยกเรื่องราวมาทำเป็นคอนเทนต์ให้ดึงดูด จากนั้นก็ลุยใช้เครื่องมือออนไลน์ทำการตลาดต่อไป เมื่อเรารู้จักคุ้นเคยกับบุคลิกของกลุ่มลูกค้าเราเป็นอย่างดี ก็จะนำมาซึ่งการรับรู้ถึงการตอบสนองความพึงพอใจในผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ว่าจะบวกหรือลบ ก็จะสามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์-ธุรกิจให้เติบโตควบคู่กันไป
ถ้า Hard Skill คือสมอง Soft Skill ก็คือหัวใจ
Hard Skills คือความรู้ และทักษะที่ใช้ในการทำงานประกอบอาชีพซึ่งแตกต่างกันไปแต่ละสายอาชีพ แต่ Soft Skills คือทักษะในการปฏิสัมพันธ์กับผู้คน การทำงานเป็นทีม รวมไปถึงภาวะอารมณ์การตัดสินใจเมื่อเจอกับสถาการณ์ปัญหาต่างๆ จากการได้พูดคุยกับผู้ประกอบการ นายจ้างจำนวนมากต้องการพนักงานที่มี Soft Skills เช่น ความสามารถในการสื่อสาร ทักษะในการเป็นผู้นำ รู้ว่าตอนไหนควรเป็นผู้นำ สถานการณ์เช่นไรควรนำแบบไหน และต้องรู้จักเป็นผู้ตามที่ดีเช่นกัน ควรมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สร้างสรรค์ ซึ่งหมายรวมถึงการคิดหาวิธีแก้ปัญหา ที่สำคัญสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้
มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นอกจากจะสร้างครอบครัวทดแทนถาวรระยะยาวให้กับน้องๆ ที่สูญเสียบิดา มารดา ไร้ญาติมิตร มูลนิธิฯ ยังมุ่งเน้นพัฒนาเพิ่มศักยภาพเยาวชนให้มีทักษะที่จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้สู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เพราะเยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจในอนาคต แต่การที่จะเป็นผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพควรได้รับการส่งเสริมทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์สังคมในปัจจุบัน มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยฯ ได้มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติ “โครงการส่งเสริมศักยภาพเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการ” (Entrepreneurship Workshop) เมื่อมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ให้กับเยาวชนอายุระหว่าง 20-23 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า จากหมู่บ้านเด็กโสสะทั้ง 5 แห่ง โดยได้รับความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่มาให้ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับเยาวชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเพิ่มศักยภาพตามช่วงวัย ที่ต้องเตรียมพร้อมสู่โลกของการทำงาน เป็นรากฐานในการช่วยสร้างความเจริญทั้งในด้านสังคมและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
ชมคลิป https://fb.watch/cu8XpsUs3g/
ร่วมสนับสนุน
เด็กๆ ทุกคนให้เติบโตด้วยความรัก อย่างพึ่งพาตนเองได้อีกครั้ง
https://www.sosthailand.org/donate