มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกาศความพร้อมในการดำเนินงาน แผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 สู่ความเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม ภายในปี 2570 หลังบรรลุความสำเร็จครบทุกเป้าหมายจากแผน ฯ ระยะที่ 12 ภายในปี 2565
ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า แผนพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) กำหนดวิสัยทัศน์ คือ “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมหาวิทยาลัยนำแนวทางเกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) เป็นแนวทางการบริหารงานให้เกิดคุณภาพ และมุ่งเน้นการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์เชิงรุก ยุทธศาสตร์ตามพันธกิจหลัก และยุทธศาสตร์สนับสนุนได้แก่ ยุทธศาสตร์เชิงรุก 3 ด้าน ประกอบด้วย นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน นวัตกรรมด้านอาหารและสุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ ล้านนาสร้างสรรค์ และการดำเนินการยุทธศาสตร์ตามพันธกิจ ได้แก่ การจัดการศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง การวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการและนวัตกรรม และบริการวิชาการทางวิชาการแก่สังคม นอกจากนี้ยังมียุทธศาสตร์สนับสนุน ด้านการแสวงหารายได้เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการเชิงบูรณาการเพื่อสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์เชิงรุก และยุทธศาสตร์ตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย
ผลการดำเนินงานตามแผนฯ ระยะที่ 12 ทำให้มหาวิทยาลัยบรรลุความสำเร็จทั้ง 3 เป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ภายในปี 2565 คือ
- ได้รับการจัดอันดับของ Time Higher Education Impact Rankings 2022 อยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก
- ผลการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีผลการประเมิน Social Return On Investment (SROI) คิดเป็นมูลค่า 16,500 ล้านบาท
- มหาวิทยาลัยได้รับรางวัล “การบริหารสู่ความเป็นเลิศ ประจำปี 2563 Thailand Quality Class: TQC 2020” จากสำนักงานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม”
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดทำแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 ตอบโจทย์ความต้องการและเป็นที่พึ่งอันดับหนึ่งในใจของสังคม มุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกด้วยความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและ Digital Transformation โดยกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” โดยกำหนดเป้าหมายของวิสัยทัศน์ในปี พ.ศ. 2570 ไว้ 3 ข้อ คือ
- ผลการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 60,000 ล้านบาท ที่แสดงให้เห็นถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรมสู่สังคม การนำงานวิจัยและองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์จริง
- ได้รับการจัดอันดับ Time Higher Education University Impact Ranking หรือ THE UIR ใน 50 อันดับแรกของโลก โดยเป็นการจัดอันดับที่นำเอาแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ขององค์การสหประชาชาติมาประยุกต์ใช้ในการจัดอันดับการดำเนินการ และความมีส่วนร่วมในเป้าหมายด้านต่าง ๆ ซึ่งมีความสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการที่มีความรับผิดชอบต่อประเด็นสำคัญของสังคมโลก ซึ่งปัจจุบันเมื่อสิ้นสุดแผนพัฒนาการศึกษาฯ ระยะที่ 12 มหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับอยู่ในอันดับที่ 70 ของโลก
- ได้รับรางวัล TQC+ (Innovation) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเป็นองค์กรที่มีคุณภาพการดำเนินการที่เป็นเลิศ ด้านนวัตกรรม
โดยแผนพัฒนา ฯ ระยะที่ 13 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 6 ด้านที่มหาวิทยาลัยกำหนดขึ้นจากการสั่งสมองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ Biopolis Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพMedicopolis Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพ และการดูแลผู้สูงอายุ Creative Lanna Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านล้านนาสร้างสรรค์ Educational Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการจัดการศึกษา มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพทั้งในระดับปริญญา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน และผู้ใช้งานบัณฑิต Research and Innovation Platform สร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการวิจัยและนวัตกรรม CMU Excellence Management Platform มุ่งเน้นในการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการดำเนินการในระบบสนับสนุนต่างๆ ของมหาวิทยาลัย สู่การเป็น Agile and Resilient Organization
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 13 มหาวิทยาลัยยังมุ่งสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยดิจิทัล” โดยนำ Digital Transformation มาสนับสนุนการดำเนินงาน เพิ่มขีดความสามารถใหม่ให้องค์กร ที่มหาวิทยาลัยมุ่งมั่นพัฒนา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่รากฐาน เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงาน การศึกษา ให้เท่าทันโลกอยู่เสมอซึ่งปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีแนวทางพัฒนาระบบดิจิทัลในการดำเนินการใน 5 ด้าน คือ Organized and Ready Digital Infrastructure ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน (Hardware) ระบบเครือข่าย (Networks) ระบบปฏิบัติงานดิจิทัล (Software) ในมหาวิทยาลัย Integrated Digital Operation and Administrations: SMART OFFICE and SMART CAMPUS เพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน ปรับปรุงกระบวนการทำงานด้วยเทคโนโลยีและระบบดิจิทัล Digital Platforms for Learning and Human Development พัฒนาการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีและแพล็ตฟอร์มดิจิทัล Digital platforms for Collaboration and Wisdom ส่งเสริมการบูรณาการการข้ามส่วนงาน เพิ่มขีดความสามารถของการทำงานวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรม และ Digitalized mindset and Digital Ready Culture ส่งเสริมบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์และความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบที่เกี่ยวข้อง
“แนวทางทั้ง 5 ประการดังกล่าว ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการจัดการฐานข้อมูลสารสนเทศ ช่วยเสริมความพร้อมทั้งเรื่องเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับด้านดิจิทัล อาทิ การใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แทนเอกสารที่เป็นกระดาษ การจ่ายค่าเทอม หรือเงินเดือนผ่านทางออนไลน์ ฯลฯ โดยสิ่งสำคัญคือการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อการดำเนินงาน โดยที่ยังอยู่ภายใต้กฎอยู่ในเกณฑ์ของกฎหมาย”
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาขีดความสามารถของทุกส่วนงานในด้านการเรียนการสอนให้สามารถจัดการเรียนรู้ผ่านระบบดิจิทัลในรูปแบบออนไลน์ และการบูรณาการระหว่างออนไลน์และออนไซต์ (Hybrid of online and on-site) โดยจัดให้มีการทดลองใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งเสริมให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น Virtual Reality, Augmented Reality, Mixed Reality, Digital Twins, และ Metaverse เพื่อเกิดการเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียน (User interface and experiences) ช่วยกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน การจัดการองค์ความรู้ พัฒนาการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์การเรียนการสอนที่ดี มุ่งผลลัพธ์ให้ผลสัมฤทธิ์ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจหลัก เพื่อผลักดันนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ผสานกิจกรรมทั้งเทคโนโลยีโลกอนาคตกับโลกปัจจุบันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเฉพาะในโลกการศึกษาและการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นในการพัฒนา
“การกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่ได้เป็นการกำหนดมาเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยต้องการมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจในทุกภาคส่วน โดยมองถึงประโยชน์ของสังคมโลกเป็นสำคัญ เนื่องจากเรามองว่าเราต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดต่อสังคม ชุมชน เศรษฐกิจทั้งในระดับภูมิภาค ประเทศ และระดับโลกเป็นอันดับแรก นี่คือหัวใจสำคัญของการบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสรุป