วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็น “วันสิทธิเด็กสากล (Universal Children’s Day)” เนื่องจากต้องการให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก พร้อมร่วมกันรณรงค์ในเรื่องการปกป้องสิทธิของเด็ก ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิด และถูกแสวงหาผลประโยชน์
ปัจจุบันยังคงมีเด็กและเยาวชนอีกมากมายที่ถูกละเลย ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความรุนแรงต่อเด็ก ความไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมตัดสินใจในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่นานาชาติต่างให้ความสนใจ ในปี พ.ศ.2532 จึงได้เกิดเป็น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ทั้งหมด 54 ข้อ โดยมีใจความสำคัญเรื่องสิทธิเด็ก 4 ประเภท ซึ่งอนุสัญญาฯ นี้เป็นข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการรับรองมากที่สุดถึง 196 ประเทศทั่วโลก โดยมีประเทศไทยเป็น 1 ในภาคีสมาชิก และมีผลบังคับใช้ในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ
อนึ่ง สิทธิเด็กนั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคนที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิด จึงไม่มีผู้ใดสามารถไปตัดทอนหรือจำกัดการใช้สิทธิอันชอบธรรมของเด็กหรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ ดังนั้น ในฐานะ “ผู้ใหญ่” เราทุกคนจึงควรตระหนักถึง “สิทธิเด็ก” เป็นสำคัญ
สิทธิเด็ก 4 ประการขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ ดังนี้
- 1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด (Right of Survival)
คือสิทธิในการอยู่รอดปลอดภัยตั้งแต่เมื่อคลอด ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเกิดมาปกติ หรือเกิดมาพร้อมกับความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจก็ตาม
- 2. สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา (Right of Development)
คือสิทธิที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาตามมาตรฐาน ความเป็นอยู่และโภชนาการที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงการส่งเสริมเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
- 3. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง (Right of Protection)
คือสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการล่วงละเมิด และการทารุณกรรมทุกรูปแบบ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงการใช้แรงงานเด็กเพื่อแสวงหาผลประโยชน์
- 4. สิทธิที่จะมีส่วนร่วม (Right of Participation)
คือสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำ รวมถึงการตัดสินใจที่มีผลกระทบต่ออนาคตของตนเอง
ในฐานะที่มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย ฯ ไม่ได้เป็นเพียงองค์กรที่ให้การช่วยเหลือเด็กกำพร้าเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งในช่วงระยะเวลาที่จำกัดเท่านั้น แต่มุ่งเน้นการเลี้ยงดูที่ครอบคลุมทุกด้านเหมือนเด็กในครอบครัวทั่วไป โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานบนพื้นฐานของ “สิทธิเด็ก” เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สิทธิที่จะมีส่วนร่วม” เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ตนเองให้ความสนใจ ตลอดจนพัฒนาส่งเสริมศักยภาพเยาวชนที่สอดคล้องตรงกับความต้องการตลาดแรงงาน
เด็กและเยาวชนในมูลนิธิเด็กโสสะฯ จะได้รับการส่งเสริมทั้งด้านการศึกษา และการผลักดันเพื่อสร้างส่วนร่วมในการอยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน โดยมีการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ อาทิ กิจกรรมสภาเด็ก (Child Club) โดยเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ลงคะแนนเสียง 1 สิทธิ์ 1 เสียง เลือกคณะกรรมการสภาเด็กของหมู่บ้านเด็กโสสะทั้ง 5 หมู่บ้าน เพื่อเป็นตัวแทนในการรวบรวมความคิดเห็นจากทุกคนในหมู่บ้าน สำหรับการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมกีฬาสี กิจกรรมพัฒนาทักษะ กิจกรรมการแข่งขันประกวดต่างๆ ในหมู่บ้านและท้องถิ่น เป็นต้น กิจกรรมสภาเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างพื้นที่ในการแสดงออกซึ่งสิทธิและเสียงของเยาวชน ในการจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนที่อยู่อาศัยของตนเอง
นอกจากนี้เยาวชนโสสะยังได้รับการส่งเสริมเพื่อพัฒนาทักษะด้านการประกอบอาชีพ ทั้งการอบรมความรู้ การฝึกงาน รวมถึงค่ายสร้างเสริมประสบการณ์ โดยในวันที่ 16 -20 ตุลาคมที่ผ่านมา มูลนิธิเด็กโสสะฯ ร่วมกับ DHL Thailand ซึ่งประกอบด้วย DHL Express Thailand , DHL Global Forwarding, DHL Supply Chain และ DHL eCommerce จัดกิจกรรม DHL Open House เปิดโลกโลจิสติกส์ต้อนรับเยาวชนโสสะ เพื่อพัฒนาแรงบันดาลใจและทักษะวิชาชีพที่สำคัญให้กับน้องๆ จากหมู่บ้านเด็กโสสะหาดใหญ่ จ.สงขลา ทั้ง 10 คน ให้เข้ามาสัมผัสสถานที่ทำงานจริง พร้อมเปิดโลกของโลจิสติกส์ โดยมีพี่ๆ อาสาสมัครจาก DHL ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตลอด 5 วันนี้ด้วย
มูลนิธิเด็กโสสะฯ เชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐ องค์กรเอกชน และผู้มีจิตเมตตา จะช่วยให้เด็กและเยาวชนของเราได้รับสิทธิที่พึงมี สามารถสร้างหนทางสู่อนาคตและอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสิทธิเด็กให้กับครอบครัวโสสะ ได้ที่
เว็บไซต์ https://www.sosthailand.org/donate–now
และรับชมคลิป Never Ending Family : ครั้งแรกที่เด็กกำพร้าจะได้ถ่ายรูปกับครอบครัว ได้ที่ https://youtu.be/7HEu1ANr6c4
ข้อมูลอ้างอิง:ยูนิเซฟ(UNICEF)