เรากำลังจะบอกลาปี 2566 ปีกระต่าย และเดินทางก้าวเข้าสู่ปีมะโรง แต่สิ่งที่จะวนเวียนอยู่กับเราในทุก ๆ ปี ก็คือเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเราทุกคน สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม โดย ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เปิดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของโลกและของประเทศไทย ดังนี้

ภาพรวมสิ่งแวดล้อมโลกที่ทั่วโลกให้ความสนใจนั่นก็คือ “ประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.2 องศาเซลเซียส เซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดขั้ว หนาวมาก ร้อนมาก วิกฤตคลื่นความร้อนและภัยพิบัติรุนแรงต่างๆ รวมถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการสูญเสียพื้นที่ป่าที่ถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรมในหลายประเทศ การขยายตัวของเมืองและชุมชน ปัญหาขยะพลาสติกในแหล่งน้ำและในทะเลที่พบมีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำ และเนื้อเยื่อของมนุษย์สูงขึ้นจนองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหาใหม่ของโลกที่จะต้องมีข้อตกลงร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ขณะที่ภาพรวมของสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมไทยในปี 2566  “ประเด็นปัญหามลพิษและการใช้พลังงานจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19  อันเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในภาคเอกชน  กิจกรรมในเมืองหลักและแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการเดินทางที่เข้าสู่ภาวะปกติ นำมาซึ่งปัญหาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของปัญหามลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้การใช้พลังงานได้ขยายตัวช้าลงจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า  ก็ยังไม่บังเกิดผลมากนัก

ในปี 2566 “ประเด็นความแปรปรวนของสภาพอากาศ” เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ในด้านอุณหภูมิ ปริมาณฝน ความชื้น และระดับน้ำทะเล อีกทั้งปรากฎการณ์เอลนีโญที่เริ่มรุนแรงมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา มีผลให้อุณหภูมิโลกพุ่งสูงขึ้นและกลายเป็นปีที่ร้อนและแห้งแล้งที่สุดในรอบหลายปี  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่า จึงส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำในภาคส่วนต่าง ๆ และกระทบต่อกลุ่มที่เสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ เกษตรกร ชุมชนชายฝั่ง ผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น รวมทั้งผลกระทบต่อปัญหามลพิษทางอากาศที่รุนแรง เช่น PM2.5 เป็นต้น

สถานการณ์ข้างต้น ล้วนเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่และอาชีพของคนไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงเป็นการคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะเดียวกันก็มี กระแสรักษ์โลกทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีความตื่นตัวต่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์หรือ Net Zero กันอย่างคึกคัก มีการขยายตัวของสินค้าที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม การปรับเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้ ฯลฯ อย่างไรก็ตามควรจะดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้ และสร้างกระแสบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการกำหนดนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการสิ่งแวดล้อมของภาคส่วนต่างๆ แม้ว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องที่มีความท้าทายและยากที่จะคาดการณ์ถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น แต่หากเราทุกคนสร้างจิตสำนัก ร่วมมือช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม ในเรื่องที่เราสามารถทำได้เริ่มต้นจากตัวเราเอง ใช้ทรัพยากรให้น้อยลง ลดการเกิดของเสีย เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ในการสร้างโลกสีเขียวและก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งต่อโลกที่สวยงามให้ลูกหลานต่อไป

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here