ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ชี้ไทยมีต้นทุนที่ดีเรื่องของสมุนไพร แนะนักวิจัยเร่งศึกษาความต้องการของตลาดตามเทรนด์การดูแลสุขภาพ วิจัยหาสารสกัดใหม่ๆหรือพัฒนาสิ่งที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น พร้อมจดสิทธิบัตรและตีพิมพ์ผลงานวิจัยเปิดทางภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอด
จากงานเสวนาหัวข้อ Functional Ingredients : Thailand Opportunity ในงาน TechnoMart 2022 จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ภญ.อโนมา เจริญทรัพย์ ผู้จัดการด้านการศึกษา สถาบันแบลคมอร์ส ประเทศไทย กล่าวว่า โอกาสของนักวิจัยไทยที่จะช่วยพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืนนั้น ขณะนี้โลกอยู่ในสังคมของผู้สูงอายุ โดย 10-20 ปีข้างหน้าผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีคุณภาพ 4 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยอายุยืนยาว ประกอบด้วย 4อ. อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ เอน(นอนหลับ) สิ่งที่สำคัญคือเรื่องของอาหาร เดิมมีแนวคิดว่ากินอะไรได้อย่างนั้น แต่ระยะหลังจะเปลี่ยนเป็น ยีนอย่างไรต้องกินอย่างนั้น หรืออาหารที่อาจปรับเปลี่ยนยีน  ดังนั้นอาหารจึงจะมาในรูปแบบ Functional Ingredients หรือ Natural Supplements เนื่องจากการทานอาหารของคนส่วนใหญ่ไม่สามารถได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นักวิจัยจะต้องค้นคว้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด เปิดมุมมองในเรื่องของเทรนด์การดูแลสุขภาพ

Group of Senior Retirement Discussion Meet up Concept

สำหรับเทรนด์การดูแลสุขภาพ ประกอบด้วย การมีอายุยืนยาว (Longevity) สังคมสูงอายุ และ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Societal changes) โดยด้านการมีอายุยืนยาว (Longevity)  ในปัจจุบันมีงานวิจัยในกลุ่ม Longevity มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ingredients ใหม่ๆ หรือ ingredients ที่มีอยู่แล้วมาวิจัยต่อยอดเพื่อให้ผลลัพธ์ดียิ่งขึ้น ส่วนด้านสังคมสูงอายุ  ซึ่งอาจเจอปัญหาโรคต่างๆ  เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เบาหวาน กระดูกพรุน เป็นต้น นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะนำงานวิจัยสมุนไพรและสารอาหารจากพืชท้องถิ่นออกสู่ตลาด  ปัจจุบันมีงานวิจัยและแนวโน้มการรักษาด้วยสารอาหารในโรคเหล่านั้นมากขึ้น โดยเฉพาะโรคบางอย่าง ซึ่งอาจยังไม่มียาหลักในการรักษา เช่น ภาวะจอประสาทตาเสื่อม มูลนิธิโรคจอประสาทตาเสื่อม สหรัฐอเมริกา (American Macular Degeneration Foundation)  แนะนำให้ผู้ป่วยใช้สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี อี ธาตุสังกะสี ร่วมกับสารที่ได้จากธรรมชาติ  เช่น ลูทีน ซีแซนทีน ตลอดจนแนะนำน้ำมันปลา ที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ กรดไขมันโอเมก้า 3 สำหรับผู้ที่ไม่ทานปลา อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผัก ผลไม้หลากสี เนื้อสัตว์ เช่น หอยนางรมจะมีธาตุสังกะสีอยู่สูง ส่วนดอกดาวเรืองมีลูทีนสูง ซึ่งสามารถนำมาสกัดให้ได้สารสำคัญได้
ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Societal changes) ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาของสุขภาพได้เช่นกัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ผู้คนรับประทานอาหารจังก์ฟู้ด ของทอด ของมัน ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนมีผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งมีสมุนไพรไทยหลายตัวมีส่วนช่วยควบคุมน้ำหนัก เช่น ดอกคำฝอย กระเจี๊ยบแดง พริก เป็นต้น ปัญหาสุขภาวะทางจิต ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของสังคมปัจจุบัน จากรายงานพบว่าประชากรมีปัญหานี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-29 ปี เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยี สังคมมีการแข่งขันสูง ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความเครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ จากงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า สมุนไพรหลายชนิด เช่น โสมอินเดีย  ชุมเห็ดไทย ขี้เหล็ก  ช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าวได้
ในปัจจุบันไม่แนะนำใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอาจเกิดการดื้อยา ซึ่งสมุนไพรบางชนิดมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและต้านไวรัสโดยไม่ก่อให้เกิดการดื้อยา ที่มีการใช้แพร่หลายในการรักษาหวัด หรือการติดเชื้อทางเดินหายใจอื่นๆ ได้แก่ ฟ้าทะลายโจร เอ็คไคนาเซีย เป็นต้น เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิจัยไทย อาจวิจัยสมุนไพรอื่นๆ นอกจากนี้ งานวิจัยด้านอื่นๆ ที่มีแนวโน้มความต้องการมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับประทานยาบางประเภทอาจทำให้สารอาหารในร่างกายลดลง ดังนั้นนักวิจัยอาจทำการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดเป็นอาหารสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายขณะที่ได้รับยาหล่านั้น


ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์ นักวิจัยไทยอาจวิเคราะห์สารสกัดใหม่ หรือพัฒนาต่อยอดของเดิมให้ดีขึ้น และตีพิมพ์ผลงานวิจัยนั้นๆในระดับนานาชาติเพื่อเป็นการเปิดทางให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปต่อยอดและก้าวเข้าสู่ตลาดโลก สำหรับสถาบันแบลคมอร์สจะเน้นเรื่องของงานศึกษาและวิจัยเป็นหลัก โดยในส่วนงานด้านการศึกษามีหลักสูตร Complementary Medicines Education (CMEd) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับเรื่องโภชนเภสัชภัณฑ์ เช่น สารอาหาร สมุนไพร และอื่นๆ โดยสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเสริมหรือร่วมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ออกแบบสำหรับเภสัชกร โดยเฉพาะเภสัชกรชุมชน ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้าที่ผู้ป่วยมารับคำปรึกษา หลักสูตรนี้จะเน้นกรณีศึกษา ควบคู่กับการนำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับการปฏิบัติ ส่วนด้านงานวิจัยจะมีการศึกษาข้อมูลส่วนประกอบของสารอาหารและสมุนไพรจากทั่วโลกที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพต่างๆได้ และสถาบันฯพร้อมสนับสนุนผลงานของนักวิจัยไทย และเชื่อว่าการที่ประเทศมีทรัพยากรหลากหลาย ความรู้ความสามารถของนักวิจัยไทยจะทำให้ได้ผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่มีคุณค่าเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here