กรุงเทพฯ ประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย นำโดย นายเปโดร สวาห์เลน เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด จัดงาน “Cardio Catalyst: Driving Change in Heart Health” ครั้งที่ 2 เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้มีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างอนามัยและสุขภาวะที่ดีให้กับคนไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายเควิน โจว Head, Asia Aspiring Cluster, Novartis International ร่วมเปิดงาน ณ สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย

ภายในงานมีการเสวนาระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักรู้ การพัฒนาการรักษา และแนวทางการทำงานร่วมกัน เพื่อสานต่อความมุ่งมั่นนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบโล่ AHA GWTG HF และแสดงความยินดีกับ 6 โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองคุณภาพการรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวตามมาตรฐานระดับนานาชาติจาก American Heart Association ซึ่งแสดงถึงศักยภาพและคุณภาพการดูแลผู้ป่วยในระดับสากล

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 กล่าวว่า “การประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสสำคัญในการหารือเกี่ยวกับปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทยและทั่วโลก จากข้อมูลสถิติของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มวัยทำงานที่อายุน้อยลง กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหานี้ และกำหนดให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงสาธารณสุข โดยเน้นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการแพทย์ ในการสร้างโครงการและนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การจัดตั้งคลินิกโรคหัวใจล้มเหลว และการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรอง ติดตาม และให้คำแนะนำผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ในโอกาสนี้ ขอแสดงความยินดีกับทีมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับรางวัลจากสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน”

พล.ต.ต.นพ.เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายถึงสถานการณ์การดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในปัจจุบันว่าแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก คือ การดูแลรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจแล้ว และการป้องกันการเกิดโรคหัวใจในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงแต่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ สำหรับการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ ประเทศไทยมีการพัฒนาการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยการขับเคลื่อนจากกระทรวงสาธารณสุขรวมถึงอีกหลายๆหน่วยงานและสมาคมวิชาชีพต่างๆซึ่งรวมถึงสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาระบบ ‘Fast Track’ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและได้รับผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ‘คลินิกหัวใจล้มเหลว’ ในหลายโรงพยาบาลทั่วประเทศ ไปพร้อมกับการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐานสูงสุดที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล สำหรับการป้องกันการเกิดโรคหัวใจในผู้ที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ คือการสร้างความตระหนักรู้เพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยง สัญญาณเตือนและอันตรายของโรคหัวใจ โดยเผยว่าปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลที่อาจไม่ถูกต้องในสื่อโซเชียลมีเดียอยู่และทำให้ผู้ป่วยมีความสับสนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต พฤติกรรมบริโภค การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารอาหารเสริมรวมถึงความกังวลถึงผลข้างเคียงของยา ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำ เว็บไซต์ ThaiHealthyHeart.com ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลตนเองสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง และจัดทำแนวเวชปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง และผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

“สำหรับงาน Cardio Catalyst: Driving Change in Heart Health ในวันนี้ มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะขับเคลื่อนการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างทุกภาคส่วน ในการดูแลสุขภาพของประชาชนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด”

นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงหลักการ 4A ในการพัฒนาระบบการดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย อันได้แก่ การตระหนักรู้เกี่ยวกับโรค (Awareness) การประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค (Assessment) การเข้าถึงการรักษาตามมาตรฐานที่เหมาะสม (Accessibility) และการมีวินัยในการรับการรักษาและการรับประทานยา (Adherence)

ทางด้าน เภสัชกรหญิงสุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด  ได้กล่าวถึงความสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ เข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ และส่งเสริมให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้น

“ที่โนวาร์ตีส เราเล็งเห็นว่า การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ เราจึงเชื่อว่าการทำงานร่วมกับผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และองค์กรต่างๆ ทั่วโลก จะนำไปสู่การพัฒนาการดูแลโรคหัวใจที่ก้าวหน้าไปมากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว โดยในปีนี้เราได้ต่อยอดจากความสำเร็จในปีที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทางด้านการดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากโรคเหล่านี้กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่เพียงในผู้สูงอายุ แต่ยังรวมถึงผู้ที่มีอายุน้อยทั่วโลก ผ่านเวทีที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคในทุกภาคส่วนให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ผ่านมาเราได้ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการยกระดับการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวให้ได้มาตรฐานสากล เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้านี้ และขอขอบคุณโรงพยาบาลและทีมบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลและทุ่มเทเพื่อผู้ป่วยอย่างตั้งใจเสมอมา ด้วยความร่วมมือกัน เราจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดมีชีวิตที่ยืนยาว สุขภาพดียิ่งขึ้น และได้ใช้เวลาอันมีค่ากับคนที่รักมากขึ้น”

การเสวนาและกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังอย่างเหนียวแน่นจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพหัวใจและลดอัตราการเสียชีวิตทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาวขึ้น กลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำน้อยลง และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้ป่วย ตอกย้ำถึงเส้นทางความสำเร็จในวันข้างหน้าที่มุ่งสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนแก่ประชาชนไทย ในขณะเดียวกันประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดได้ โดยการหมั่นตรวจสุขภาพหัวใจ คอยสังเกตและเอาใจใส่ครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรค รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ป่วยให้มีวินัยในการรักษามากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here