อินทรี อีโคไซเคิล ผู้ให้บริการจัดการของเสียและบริการภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน มุ่งผลักดันแก้ไขปัญหาขยะในทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่รั่วไหลลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาด
เนื่องใน “วันทะเลโลก” (World Ocean Day) ในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์ท้องทะเล พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม อาสาสมัครจากพนักงานบริษัทอินทรี อีโคไซเคิล ร่วมกับ เจ้าหน้าที่กองเรือยุทธการ และผู้เข้าร่วมงานสัมมนา โครงการ OPTOCE กว่า 150 คน ร่วมกันเก็บขยะชายหาด ณ หาดดงตาล อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยนำขยะที่เก็บได้มาคัดแยกและผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ เพื่อใช้เผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ หรือ Co-Processing สามารถนำพลังงานความร้อนจากขยะกลับมาใช้ใหม่ หรือ Energy Recovery และมุ่งสร้างจิตสำนึกการแก้ปัญหาขยะในทะเลอย่างยั่งยืน อาสาสมัครร่วมเก็บขยะชายหาดเป็นระยะทางประมาณ 1.2 กิโลเมตร โดยสามารถรวบรวมขยะได้ถึง 2,285 กิโลกรัม โดยนำมาคัดแยกเป็นขยะที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse-Derived Fuel) ได้กว่า 2,000 กิโลกรัม โดยเชื้อเพลิงขยะ RDF เหล่านี้จะถูกส่งไปที่อินทรี อีโคไซเคิลเพื่อนำไปเผาร่วมในเตาปูนซีเมนต์เป็นพลังงานความร้อนทดแทนถ่านหินต่อไป
สุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กล่าวว่า “อินทรี อีโคไซเคิล ในฐานะผู้ให้บริการด้านการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ได้สนับสนุนและผลักดันความร่วมมือกับลูกค้าและพันธมิตรในการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบัน ปัญหามลพิษจากขยะเกิดจากการบริหารจัดการขยะเพื่อนำกลับมาสู่วงจรรีไซเคิลหรือกลับมาใช้ใหม่ได้น้อยมากเมื่อเทียบกับการบริโภค ขยะที่เหลือส่วนใหญ่ยังบริหารจัดการไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือมีมูลค่าต่ำ ไม่คุ้มทุนที่จะนำมา รีไซเคิล เช่น พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หลอดพลาสติก ถุงพลาสติกบางประเภท บรรจุภัณฑ์ต่างๆ ขยะเหล่านี้มักจะถูกส่งไปยังบ่อขยะและอาจหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อม และท้ายที่สุดก็จะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและท้องทะเล ธุรกิจของอินทรี อีโคไซเคิล เรามองว่า “ขยะ” คือ “ทรัพยากร” ที่ต้องบริหารจัดการให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนนำส่ง ไปกำจัดที่ปลายทาง โดยขยะพลาสติกที่ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้สามารถนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ได้”
สำหรับ อินทรี อีโคไซเคิล ได้ดำเนินโครงการที่มุ่งส่งเสริมการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา อินทรี อีโคไซเคิล และ สถาบันวิจัย SINTEF จากนอร์เวย์ ได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ “โครงการจัดการพลาสติกในมหาสมุทร ให้กลายเป็นโอกาสในเศรษฐกิจหมุนเวียน Ocean Plastic Turned into an Opportunity in Circular Economy (OPTOCE)” เพื่อเสนอแนวทางการจัดการขยะพลาสติกมูลค่าต่ำ หรือพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ลดการรั่วไหลของขยะพลาสติกลงสู่ทะเลและมหาสมุทร โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันต่างๆ ร่วมแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายด้านการจัดการขยะตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สถานการณ์ขยะในทะเล และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ สถาบันวิจัยและภาคการศึกษา กลุ่มผู้ผลิตสินค้าและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยชุมชน หรือ เชื้อเพลิงขยะ RDF (Refuse-Derived Fuel) เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากบ่อขยะชุมชนอย่างต่อเนื่อง