“การร่วมทำกิจกรรมธนาคารขยะรีไซเคิลในโรงเรียน เปรียบเสมือนหนูมีกิจการเล็กๆ เป็นของตัวเองในการบริหาร เรามีคณะทำงานซึ่งเป็นเพื่อนๆ ที่ทำงานร่วมกัน นอกจากจะเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ แล้ว เรายังมีความตระหนักเพิ่มขึ้นถึงคุณค่าของขยะพลาสติก และสามารถนำความรู้เรื่องการรีไซเคิลที่ได้จากการทำงานตรงนี้ไปจัดการกับขยะที่บ้านอย่างถูกต้อง และเอาไปต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้อีกด้วย” น้ำทิพย์ สีเอี่ยม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อายุ 17 ปี หนึ่งในคณะกรรมการธนาคารขยะรีไซเคิล โรงเรียนบ้านชีวิทยา จังหวัดลพบุรี เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ใหม่ในการเป็นคณะกรรมการโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล โรงเรียนบ้านชีวิทยา ที่สนับสนุนโดยบริษัท เพ็ทฟอร์ม (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มอินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ธนาคารขยะรีไซเคิล ไร้เงินสดโรงเรียนบ้านชีวิทยา จังหวัดลพบุรี พัฒนาและดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะทำงานของเพ็ทฟอร์ม และคุณครูที่ปรึกษาของโรงเรียน โดยเพ็ทฟอร์มได้นำทีมพนักงานกว่า 30 คน ร่วมปรับปรุงพื้นที่อาคารเก็บของประจำโรงเรียนให้กลายเป็นธนาคารขยะรีไซเคิล คัดแยกวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้การไม่ได้มาซ่อมแซมใหม่ และให้คำแนะนำฝึกอบรมแก่นักเรียน และครู ในการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้ถูกประเภท รวมถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการคัดแยกขยะ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักดิจิทัล และกรงสำหรับขยะแต่ละประเภท เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้โครงการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมไปถึงสินค้าแลกซื้อต่างๆ ที่นักเรียนจะได้รับเป็นการตอบแทนเมื่อนำขยะมาทิ้งอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ปากกา สมุด กระเป๋า หรือกล่องข้าว เป็นต้น เพื่อสร้างแรงสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียน โดยมีทีมงานติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่องในขั้นต้นทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามและประเมินปริมาณการแยกขยะ ซึ่งตัวอย่างข้อบ่งชี้ความสำเร็จของโครงการคือปริมาณจำนวนขยะในชุมชนลดลง อัตราการส่งและคัดแยกขยะอย่างถูกต้องที่เพิ่มขึ้น และปริมาณขยะในโรงเรียนและชุมชนที่ลดลง รวมถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องประเภทของขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นต้น
น้ำทิพย์ เล่าต่อว่า “หนูรับหน้าที่เป็นผู้จัดการธนาคารขยะรีไซเคิล และทำงานร่วมกันกับเพื่อนๆ อีก 7 คน งานของพวกเรา ได้แก่การคัดแยกขยะ ชั่งน้ำหนัก จดบันทึกลงบนสมุดคู่ฝากโดยจะให้เพื่อนๆ นักเรียนในโรงเรียนนำขยะที่เก็บมาจากบ้าน หรือในโรงเรียน และรวบรวมขยะนำมาขายให้แก่ธนาคารขยะสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเมื่อได้จำนวนตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถนำมาแลกอุปกรณ์การเรียน หรือสินค้าภายในธนาคารขยะได้ตามที่ตัวเองชอบเลย ซึ่งสิ่งที่ได้จากโครงการธนาคารขยะรีไซเคิลจะช่วยสร้างนิสัยการคัดแยกขยะตั้งแต่ที่บ้านและโรงเรียน ส่งผลให้ขยะในโรงเรียนและชุมชนลดลง”
“โครงการธนาคารขยะรีไซเคิลแห่งนี้ ตอบโจทย์การพัฒนาด้านการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน รวมถึงปลูกฝังระเบียบวินัยในเชิงบวก และเป้าหมายในการคัดแยกขยะให้เหมาะสมเพื่อสร้างมูลค่าขยะรีไซเคิล และฝึกงานอาชีพให้นักเรียนผ่านวิธีคิดในการบริหารจัดการธนาคารขยะด้วย” นายวรวิทย์ คำผลึก ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านชีวิทยา บอก “การทำงานเป็นทีมจะช่วยส่งต่อความรู้ให้น้องๆ ในโรงเรียนแล้วก็ขยายต่อไปยังบ้านเรือน ชุมชน และสังคม ในอนาคตเด็กๆ จะสามารถสร้างคุณค่าและสร้างผลิตภัณฑ์รีไซเคิล เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าของนักเรียนได้ต่อไป ต้องขอขอบคุณอินโดรามา เวนเจอร์ส และภาคีเครือข่าย ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องการบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรม และให้ความรู้ในการคัดแยกขยะรีไซเคิล ทำให้เราตระหนักถึงคุณค่าของขยะที่คนทั่วไปใช้เสร็จแล้วทิ้ง ส่วนคุณครูในโรงเรียนก็เปลี่ยนมุมมองหันมาให้ความสำคัญในเรื่องการคัดแยกขยะให้ถูกประเภท ซึ่งเมื่อมีการเริ่มต้น มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ”
“โรงเรียนนี้อยู่ใกล้กับโรงงานของเรามาก และพนักงานของเราหลายคนก็เรียนจบจากที่นี่ ซึ่งทำให้เราเข้าใจถึงความต้องการของโรงเรียนได้ดี” โกวิน นาการ์ รองประธานร่วม เพ็ทฟอร์ม (ไทยแลนด์) บริษัทในกลุ่มอินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เราใช้องค์ความรู้ของอินโดรามา เวนเจอร์สในการสร้างความตระหนักให้คนในชุมชนของเรารู้ว่า เราควรรีไซเคิลขยะให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะขยะขวด PET สามารถรีไซเคิลได้ 100% ผ่านประสบการณ์ของพนักงาน พวกเขาจึงสามารถเป็นพันธมิตรที่ดีของโรงเรียน ช่วยสร้างความเข้าใจ และให้ความรู้เรื่องรีไซเคิลที่ถูกต้องให้กับเด็กๆ และนักเรียนที่กำลังศึกษา ซึ่งยังสามารถต่อยอดโครงการที่ยั่งยืนนี้ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น นั่นคือเหตุผลที่เราเลือกโรงเรียนนี้ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนเองยังได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้โครงการนี้เป็นโครงการต้นแบบของจังหวัดลพบุรี ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่า น้องๆ อาสาสมัครที่เป็นคณะกรรมการกลุ่มนี้ จะสามารถทำงานนี้ได้ดีทีเดียว”
ทั้งนี้ โครงการธนาคารขยะรีไซเคิล เป็นเพียงหนึ่งในหลายโครงการเพื่อสังคมภายใต้การดำเนินงานของอินโดรามา เวนเจอร์ส โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ 1) การสอนและปลูกจิตสำนึกให้เด็กมีองค์ความรู้และความเข้าใจการคัดแยกขยะ ทิ้งถังขยะให้ถูกประเภท และสามารถนำกลับมารีไซเคิล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการศึกษาและสิ่งแวดล้อม 2) การสนับสนุนและวางระบบการ
บริหารจัดการให้กับโรงเรียนซึ่งเอื้อต่อการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริง และ 3) การสร้างแรงจูงใจให้เกิดการรีไซเคิลตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมทั้งเสริมสร้างให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระยะยาว โดยธนาคารขยะรีไซเคิล โรงเรียนบ้านชีวิทยา จ.ลพบุรี นับเป็นธนาคารขยะรีไซเคิลแห่งที่ 4 ที่ได้รับการพัฒนาและสนับสนุนจากอินโดรามา เวนเจอร์ส
เกี่ยวกับ อินโดรามา เวนเจอร์ส
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Bloomberg ticker IVL.TB) เป็นหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีชั้นนำระดับโลก มีโรงงานผลิตครอบคลุมภูมิภาคหลักทั่วโลก ได้แก่ ยุโรป แอฟริกา อเมริกา และเอเชียแปซิฟิก โดยมีกลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจ Combined PET ธุรกิจ Integrated Oxides and Derivatives และ ธุรกิจ Fibers ผลิตภัณฑ์ของไอวีแอลรองรับลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัย ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลส่วนบุคคล และอุตสาหกรรมยานยนต์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ยางในรถยนต์และผลิตภัณฑ์ด้านความปลอดภัย ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั่วโลกราว 26,000 คนและมีรายได้จากการขายรวม 18.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2565 บริษัทฯ เป็นสมาชิกดัชนีดาวโจนส์ (DJSI)