นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน เปิดเผยว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULFรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2564 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) จำนวน 2,293 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 968 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73% จากไตรมาสเดียวกันในปีก่อน

สาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายได้เงินปันผลจาก INTUCH จำนวน 1,666 ล้านบาท ประกอบกับรับรู้ผลกำไรของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,650 เมกะวัตต์ หน่วยที่ 1 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง662.5 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และกำไรที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP ภายใต้กลุ่ม GMP จากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และลูกค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มบรรจุภัณฑ์ โดย 12 SPP มี Load Factor เฉลี่ยของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ เท่ากับ 59% เทียบกับ 57% ปีที่แล้ว นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้า 7 SPP ภายใต้กลุ่ม GJP ยังสามารถขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากกลุ่มสิ่งทอ และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี Load Factor เฉลี่ยของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเท่ากับ 61% เมื่อเทียบกับ 60% ในปีก่อน อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้า GNS ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้ GJP มีการหยุดซ่อมบำรุงในไตรมาส 3 ปี 2564 เป็นเวลา 10 วัน จึงส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานของ GJP ลดลงในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563

สำหรับไตรมาส 3 ปี 2564 GULF บันทึกกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ ซึ่งรวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับ 1,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64%จาก 970 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากบันทึกผลขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unrealized Loss) จำนวน 767 ล้านบาท จากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่อ่อนค่าลงจาก 32.22 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 2 มาเป็น 34.09 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2564

ในส่วนของรายได้รวม (Total Revenue) GULF บันทึกรายได้รวมเท่ากับ 13,780ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,035 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58% จากไตรมาส 3 ปี 2563 จากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1 ที่เปิดดำเนินการในไตรมาส 1 ปี 2564และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ที่รับรู้รายได้ครั้งแรกในไตรมาส 4 ปี 2563 นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขายไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการโรงไฟฟ้า 12 SPP และรายได้เงินปันผลรับจาก INTUCH อีกด้วย อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ GTN1 และ GTN2 ที่ประเทศเวียดนาม ลดลงเล็กน้อยจากการจำกัดการรับซื้อไฟฟ้าชั่วคราว (Temporary Curtailment) เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดสูงของ COVID-19 และมีการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ จึงส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม

อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 24.6% ลดลงจาก 25.9% ในไตรมาส 3 ปี 2563 เนื่องจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 14% (จาก 235.22 บาท/ล้านบีทียู เป็น 268.61 บาท/ล้านบีทียู) ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยลดลงจากปีก่อน 29% (จาก -0.1188 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ถึง 90% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าทั้งหมดไปให้ กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 10% ดังนั้นจึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับอัตรากำไร EBITDA Margin ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 44% เมื่อเทียบกับ 40% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากรายได้เงินปันผลรับจาก INTUCH

ณ วันที่ 30 กันยายน 2564 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 2.34 เท่า สูงขึ้นจาก 1.75 เท่า ณ สิ้นงวดไตรมาส 2 ปี 2564 สาเหตุหลักเนื่องจาก GULF ได้ทำการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจำนวน 48,612 ล้านบาท เพื่อชำระค่าหุ้นของ INTUCH ที่ได้มาจากการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ (Tender Offer) อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 4 ปี 2564 คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะลดลงมาที่ประมาณ 2.00 เท่า หลังจากที่ GULF เปลี่ยนวิธีบันทึกบัญชีสำหรับเงินลงทุนใน INTUCH มาเป็นวิธีส่วนได้เสีย (Equity Method) ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากกำไรที่เกิดจากการปรับมูลค่าต้นทุนเฉลี่ยของ INTUCH ให้เป็นมูลค่าตลาด ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 (วันที่มีการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชี)

นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 GULF ได้ออกหุ้นกู้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) โดยหุ้นกู้มีอายุเฉลี่ย 6 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.5% และได้นำเงินจากการเสนอขายหุ้นกู้ส่วนหนึ่งมาชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ใช้ในการซื้อหุ้น INTUCH และเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 BGSR 6 และ BGSR 81 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียนิ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Private Public Partnership: PPP) กับกรมทางหลวง เป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน-นครราชศรีมา (M6) ระยะทาง 196 กิโลเมตร และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ระยะทาง 96 กิโลเมตร โดยคาดว่าทั้ง 2 โครงการจะเริ่มงานก่อสร้างภายในเดือนธันวาคม 2564 และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567

นอกจากนี้ GULF ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด และเพื่อให้ธุรกิจสอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลกที่เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และพร้อมรองรับการขยายตัวของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในอนาคต GULF จึงได้ปรับโครงสร้างการลงทุนในกลุ่มบริษัท โดยจัดตั้งบริษัท Gulf Renewable Energy ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ GULF ถือหุ้น 100% มาดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เช่น โครงการพลังงานลม โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการโซล่าร์รูฟท็อบ โครงการพลังงานชีวมวล และโครงการพลังน้ำ รวมถึงศึกษาโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดย GULF มีนโยบายไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหิน (No Coal Policy) และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งจากพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมของ GULF ภายในปี 2573

นางสาวยุพาพิน กล่าวต่อว่า สำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 GULF มีความคืบหน้าของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 2 ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่ GULF ร่วมทุนกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และ CHEC OVERSEA INFRASTRUCTURE HOLDING PTE. LTD. เพื่อดำเนินธุรกิจขนส่งตู้สินค้าผ่านท่าเทียบเรือน้ำลึกนั้น คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และสำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ประเทศลาว ได้แก่ โครงการ Pak Beng กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และโครงการ Pak Lay กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) กับ กฟผ. ได้ภายในสิ้นปี 2564 เช่นกัน

 

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here