กรุงเทพฯ, 4 กุมภาพันธ์ 2565 – ในนามสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ส่งมอบตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำเพื่อจัดเก็บวัคซีนโควิด-19 พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการแก่กระทรวงสาธารณสุข ณ กรมควบคุมโรค เพื่อเพิ่มแรงสนับสนุนการดำเนินงานกระจายวัคซีนในกลุ่มที่มีความเปราะบางรวมถึงประชากรที่มีความเสี่ยงตามพื้นที่แนวชายแดนให้แก่หน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศไทย

อุปกรณ์การแพทย์ซึ่งประกอบไปด้วยตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำ 4 ตู้รวมถึงเข็มและกระบอกฉีดยาชนิด Low Dead Space จำนวน 51,000 ชุด ได้ถูกส่งมอบให้ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ระหว่างงานพิธีส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์ภายใต้ “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการตอบโต้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน”

การส่งมอบตู้แช่แข็งฯ ดังกล่าวจะช่วยให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถจัดเก็บวัคซีนชนิดสารพันธุกรรมหรือวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนชนิดดังกล่าวต้องจัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมากเป็นพิเศษถึง -70 องศาเซลเซียส ในขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ซึ่งได้แก่ เข็มและกระบอกฉีดยาชนิด Low Dead Space จะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขสามารถเร่งการฉีดวัคซีนเพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย การระบาดใหญ่ในครั้งนี้จะสามารถเอาชนะได้ก็ต่อเมื่อการแพร่กระจายของโรคถูกควบคุมได้ทั่วโลก ผมมีความยินดีที่เราสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานกระจายวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยโดยการบริจาคตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำรวมถึงเข็มและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีความเปราะบางรวมถึงประชากรที่มีความเสี่ยงตามพื้นที่แนวชายแดนของประเทศเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับผลประโยชน์ โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาค ระหว่างอาเซียน-เยอรมัน การบริจาคครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งในความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานกับประเทศไทย ในขณะที่เรากำลังเฉลิมฉลอง 160 ปี ความสัมพันธ์เยอรมัน-ไทย ในปี พ.ศ. 2565 นี้ ซึ่งในปีที่ผ่านมา เยอรมนีได้สนับสนุนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรป ด้วยการบริจาควัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19”

“เราเชื่อว่าการเข้าถึงวัคซีน ยา และการตรวจหาเชื้ออย่างเท่าเทียม ยุติธรรม และอยู่ในราคาที่จับต้องได้ รวมถึงให้การป้องกันกับผู้มีความเสี่ยงสูงเป็นการช่วยชีวิตวิธีหนึ่งที่สำคัญ ดังนั้นเรามุ่งเน้นที่จะรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนนับล้าน ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศและแบบพหุภาคี เช่น โครงการ COVAX โดยการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในฐานะเป็นประธานของ G7” นายซูเบคกล่าวเพิ่มเติม
นายแพทย์ โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวคำต้อนรับและเปิดงานในพิธีส่งมอบว่า “ผมรู้สึกยินดีที่ได้รับอุปกรณ์สนับสนุนจากโครงการฯ ซึ่งได้แก่ ตู้แช่แข็งอุณหภูมิต่ำรวมถึงเข็มและกระบอกฉีดยาชนิด Low Dead Space เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยส่งเสริมความพยายามในการดำเนินงานกระจายวัคซีนภายในประเทศ” ปัจจุบันประเทศไทยมีแผนที่จะซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน  120 ล้านโดส เพื่อใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นและจัดการกับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในปี พ.ศ. 2565 นี้

งานพิธีส่งมอบเครื่องมือทางการแพทย์อยู่ภายใต้การดำเนินงานของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งสำหรับการตอบโต้ต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญในการช่วยเหลือแก่กลุ่มที่มีความเปราะบางในพื้นที่มีความเสี่ยงสูง โดยการสนับสนุนครั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขในภูมิภาค ระหว่างอาเซียน-เยอรมัน และประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียน

โครงการฯ ให้การสนับสนุนกิจกรรม ดังนี้ (1) การจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับประเทศในกลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในภูมิภาคอาเซียน (2) การสนับสนุนความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียนในการเตรียมความพร้อมและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข อาทิ การพัฒนาแนวทางปฏิบัติเพื่อติดตามผู้สัมผัสข้ามพรมแดนและการสอบสวนการระบาดของโรค การพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยของอาเซียนเพื่อป้องกันโรคระบาดในที่สาธารณะ และด้วยความร่วมมือกับสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำการประเมินความต้องการเพื่อพัฒนาศักยภาพในการรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขของโควิด-19 ในอาเซียน และ (3) การพัฒนาโครงการในอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมและการตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในระยะยาวของประชาคมอาเซียน

โครงการฯ อยู่ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ในการตอบสนองและฟื้นตัวจากผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here