การพัฒนาคนให้มีคุณภาพเต็มศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ถือเป็นการสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าและเป็นหัวใจหลักในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนในวันนี้ที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติในอนาคต แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันมีเด็ก และเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ตกอยู่ในภาวะเครียด ไม่มีความสุข นำพาไปสู่ภาวะซึมเศร้า ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาดังกล่าวคือ ชีวิตขาดเป้าหมาย ไม่เข้าใจตนเองไม่สามารถจัดการกับภาวะอารมณ์และความกดดันจากภายในตนเอง ครอบครัว และสังคมได้ไม่ดีเพียงพอ โดยจากข้อมูลผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนในประเทศไทย 6,771 คน ปี 2564 โดยยูนิเซฟ ร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย พบว่า เด็กและเยาวชนมีความเครียดด้านการเรียนถึง ร้อยละ 70 และที่สำคัญยังพบว่าเด็กและเยาวชนต้องการช่องทางเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการกับความเครียด ถึงร้อยละ 40 สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยกำลังสูญเสียความรู้สึกถึงเป้าหมายของชีวิต ไม่เห็นความสำคัญของตนเองและผู้อื่น ขาดความตระหนักรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกและการกระทำของตนเอง ซึ่งหากเด็กและเยาวชนไม่ได้รับการดูแลสุขภาพด้านจิตใจที่เหมาะสม อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว

ด้วยเหตุนี้ทั้ง 5 องค์กร ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ธนาคารจิตอาสา สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และบริษัท ส่งสุข วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ในเครือจิมมี่ เดอะ โค้ช จึงได้ร่วมกันปั้นสร้างโครงการ  “Life Director ผู้กำกับชีวิต (มืออาชีพ)” เพื่อปลุกพลังบวกเยาวชน-เห็นคุณค่าความสุข-มีเป้าหมายในชีวิต สู่ผู้นำขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะยั่งยืน โดยใช้ทักษะไลฟ์โค้ชเป็นฐานในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยจำนวน 200 คน ผ่านการอบรมผ่านระบบออนไลน์ 1 วัน และทำการ Self-Coach ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยหลักสูตรประกอบด้วย 1) Mindset เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นตนเอง สามารถพัฒนาไปสู่ความสำเร็จของตนเองและสังคม 2) Being  ผู้เรียนเห็นคุณสมบัติที่ดีของตนเองและเลือกคุณสมบัติที่ดีเป็นตัวนำชีวิตให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ 3) Higher–Purpose  เข้าใจความสำคัญของเป้าหมายและมีความชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง 4) Wheel of Life ส่วนประกอบและแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตที่จะทำให้ผู้เรียนเห็นว่าชีวิตมีหลายด้าน แล้วเลือกด้านที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้นเพื่อตั้งเป็นเป้าหมาย และ 5) My Journey เครื่องมือจัดระบบความคิดที่จะทำให้ผู้เรียนสร้าง Action Plan เพื่อไปสู่เป้าหมายด้วยตนเอง

ภายในงานเปิดตัวโครงการ “Life Director ผู้กำกับชีวิต (มืออาชีพ)” เราได้มีโอกาสพูดคุยกับน้อง ๆ  ระดับแกนนำจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยที่มาร่วมแชร์มุมมองปัญหาเด็กและเยาวชนไทยในประเด็นที่แตกต่างหลากหลาย

 

 “สอง–นางสาวยศวดี ดิสสระ” อายุ 21 ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคใต้ เล่าให้ฟังว่า สภาเด็กและเยาวชนฯ มีเครือข่ายกว่า 8,000 แห่งทั่วประเทศไทย ครอบคลุมน้อง ๆ เยาวชนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ อกจากนั้น ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงยังมีน้อง ๆ ในเครือข่ายกรุงเทพฯ อีก 50 เขต ซึ่งในปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากต้องประสบกับภาวะเครียด วิตกกังวล เพราะไม่สามารถหาทางออกให้ตนเองได้

 “สภาเด็กและเยาวชนฯ เป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนด้านวิชาการและส่งเสริมกิจกรรมในการพัฒนา ป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน ซึ่งโครงการ Life Director ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะสิ่งที่จะนำพาคนหนึ่งคนให้ประสบความสำเร็จได้จะต้องเริ่มต้นจาก Mindset ซึ่งกิจกรรม Life Director ก็เป็นการพัฒนาผู้เข้าร่วมอบรมให้มี Growth Mindset   มีความคิดในการรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง อันนี้ถือเป็นกุญแจที่สำคัญมาก ๆ เพราะเมื่อเด็กและเยาวชนรู้จักตนเอง ค้นพบตนเองว่ามีศักยภาพอะไรในตัวเองบ้าง เขาก็จะสามารถเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง แล้วนำศักยภาพที่เขามีไปช่วยสร้างเสริมทักษะให้กับคนรอบข้างหรือคนอื่น ๆ ให้ค้นพบตัวเอง ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้แข็งแรง และเชื่อมั่นว่าพลังของเยาวชนจะต้องเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่อนาคตที่มั่นคงทั้งของตนเองและประเทศชาติของพวกเราค่ะ”

ทางด้าน “ณนนท์–นายบุรินทร์ เรือนแก้ว” อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ประธานสภาเด็กและเยาวชนฯ จังหวัดแพร่ ในฐานะตัวแทนภาคเหนือ บอกว่า ปัญหาของเด็กวัยรุ่นภาคเหนือเป็นปัญหาที่เหมือน ๆ กันกับทุกภูมิภาค แต่ที่สำคัญคือปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด พอเกิดวิกฤตโควิด–19 ที่ยาวนานต่อเนื่องก็ยิ่งทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น ต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดความเครียด การขาดความรู้ด้านทักษะทางสังคม รวมถึงความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและการอยู่ร่วมกันระหว่างกลุ่มเด็กทั่วไปและกลุ่มชาติพันธุ์

“ด้วยตัวผมเองเรียนด้านสังคมสงเคราะห์และมองว่า การพัฒนาคนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และต้องเริ่มต้นที่ Mindset ซึ่งเป็นเรื่องของความคิด ถ้าเราคิดดี เราก็จะทำดี เพราะความคิดส่งผลต่อพฤติกรรม และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่เราให้เขาได้รู้จักตนเอง ได้เห็นคุณค่าและพัฒนาศักยภาพตนเอง ก็จะทำให้เค้ารู้สึกมีความสุขกับการใช้ชีวิต รวมถึงเรื่องของความคิดหรือทัศนคติต่าง ๆ ที่เขาต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อยากให้พวกเขาสามารถบริหารจัดการหรือเป็นผู้กำกับชีวิตของตนเองได้  และหากส่งทักษะนี้ให้กับคนอื่นด้วยก็จะยิ่งดี เชื่อว่าโครงการ Life Director จะช่วยซัพพอร์ตในเรื่องของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ด้วยการสร้างทักษะเด็กและเยาวชนให้เข้มแข็งจากภายในและพร้อมที่จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนครับ”

ปิดท้ายกันที่ “ทิดเฟิส–นายเอกสิทธิ์ จ้อยสองศรี” อายุ 24 ปี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ประธานสภาเด็กและเยาวชนฯ จังหวัดนครปฐม ในฐานะตัวแทนภาคกลาง กล่าวว่า ด้วยบริบทของความเป็นภาคกลางที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพฯ ซึ่งมีความก้ำกึ่งระหว่างชนบทกับเมือง ทำให้การที่จะรวมเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เข้าร่วมทำกิจกรรมและพิทักษ์สิทธิต่าง ๆ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก แต่เราก็มีความพยายามที่จะสนับสนุนการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

“สภาเด็กและเยาวชนฯ มีความเป็นจิตอาสาอยู่แล้ว เราอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถค้นพบตัวเอง ซึ่งโครงการ Life Director จะช่วยจุดประกายความคิดและอาจจะไปเติมไฟให้เค้ามาช่วยกันพัฒนาสังคมได้อีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้น ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้น้อง ๆ จากสภาเด็กและเยาวชนฯ ได้สร้างทักษะที่จะรู้จักตนเองมากขึ้น ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเอง เคารพตัวเอง รู้ศักยภาพของตัวเอง เชื่อว่าในอนาคตเขาจะช่วยดึงศักยภาพของเพื่อนหรือคนอื่น ๆที่อยู่รอบตัวเค้าได้เช่นกัน รู้สึกดีใจที่หลายหน่วยงานเห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน และคาดหวังว่าจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สภาเด็กและเยาวชนฯ ที่มีความหลากหลายในมิติต่าง ๆ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน และนำไปส่งต่อให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ครับ”

เด็กและเยาวชนที่แข็งแรงจากภายในจิตใจ จะมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง มองเห็นความสุขในปัจจุบันได้มากขึ้น สามารถปลดล็อกปัญหา มองเห็นคุณค่าของตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและสังคม มีเป้าหมายในชีวิต  สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ และเป็นพลังงานที่ดีที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ความสุขประเทศไทยwww.happinessisthailand.com

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here