กระแสคลื่นสังคมผู้สูงวัย (Aging Society) เริ่มพัดเข้าปะทะสังคมไทยอย่างเต็มตัวแล้วในปี 2565 โรงพยาบาลยันฮี ในฐานะสถานพยาบาลที่ครบวงจรและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง เตรียมเผชิญหน้า ‘สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)’ ในไทย พร้อมตั้งรับปรับกลยุทธ์ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุโรงพยาบาลยันฮี” อย่างเต็มรูปแบบ เน้นชูศักยภาพการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม ครอบคลุมทุกมิติอย่างใกล้ชิดดุจญาติมิตร โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญมากด้วยประสบการณ์ในบทบาทการดูแลผู้สูงอายุมากว่า 20 ปี มั่นใจรับมือประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยได้อย่างสมบูรณ์ พร้อมตั้งเป้าขยายหอผู้ป่วยสำหรับรองรับผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 80 เตียง เพื่อรองรับการก้าวสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged Society)’ ในอนาคตข้างหน้า
นายแพทย์ชวลิต หล้าคำมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลยันฮี เผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างเต็มรูปแบบ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย เพราะแนวโน้มคนไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้น ลูกหลานทำงานนอกบ้านมากขึ้น จึงไม่มีคนดูแล อาจทำให้เกิดปัญหาในการดูแล และบางครั้งผู้สูงอายุก็ถูกทอดทิ้งไว้ที่บ้านคนเดียว จนเกิดภาวะซึมเศร้า ตลอดจนอาจเกิดอันตรายต่างๆ ที่ไม่คาดฝันตามมาได้ ดังนั้น สถานบริบาล หรือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจึงเข้ามามีบทบาท เพื่อช่วยรองรับและลดความกังวลแก่ลูกหลานได้ในระดับหนึ่ง
โรงพยาบาลยันฮี มีความพร้อมด้วยประสบการณ์ในการดูแลผู้สูงอายุมากว่า 20 ปี โดยเริ่มจากการเปิดรับบริการดูแลผู้สูงอายุในปี 2540 ซึ่งพบว่าได้รับการไว้วางใจจากญาติในการนำผู้สูงอายุมาให้ทางเราดูแลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้เริ่มเปิดหอผู้ป่วยสำหรับรองรับผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเฉพาะ ระยะแรกสามารถรับผู้สูงอายุได้ 30 เตียง และได้เพิ่มจำนวนเตียงเป็นลำดับ จนปัจจุบัน มีผู้สูงอายุที่อยู่กับเรารวม 60 เตียง และเป็นกลุ่มผู้สูงอายุช่วยเหลือตัวเองได้น้อยจนถึงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ส่วนใหญ่ญาติฝากให้ดูแลในระยะยาว”
“สำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุยันฮี จะตั้งอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลยันฮี มีศักยภาพเต็มที่ในการดูแลผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิดโดยทีมแพทย์และพยาบาลตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ จึงเชื่อมั่นและวางใจได้ในเรื่องความปลอดภัย บรรยากาศภายในศูนย์ฯ มีความเป็นกันเอง ให้ความรู้สึกอบอุ่นเสมือนอยู่บ้าน ดุจครอบครัวเดียวกัน รวมทั้งมีการจัดตั้งหอพักผู้ป่วย สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะโรคเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุที่ต้องฟอกไต , ผู้สูงอายุที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ Home use และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีอาการเจ็บปวด ต้องได้รับยาฉีด
ภายในศูนย์ฯ มีแพทย์ประจำศูนย์เป็นแพทย์อายุรกรรม ที่มีความชำนาญด้านการดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะ พร้อมด้วยทีมพยาบาลผู้ดูแล อันประกอบไปด้วย พยาบาลวิชาชีพ ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ โดยทุกท่านผ่านการอบรมตามที่มาตรฐานกำหนด มีการพัฒนาศักยภาพ เพื่อเพิ่มทักษะและขีดความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง”
“เรามีความตั้งใจที่จะดูแลรักษาโรคต่างๆ ของผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยมีโรคสำคัญๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ Strokeหรือโรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ พร้อมด้วยนักโภชนาการคอยดูแลและให้คำแนะนำเรื่องอาหารให้เหมาะสมกับโรคนั้นๆ มีนักกายภาพ เข้ามาฟื้นฟูสุขภาพ เช่น การทำกายบริหาร การฝึกเดิน การเคาะปอด การตรวจสุขภาพประจำปีตามคำแนะนำของแพทย์ บริการเจาะLab เพื่อดูรอยโรคต่างๆ การบริการดูดเสมหะ การพ่นยา การสวนปัสสาวะ และบริหารยาตามโรคประจำตัว” นพ.ชวลิต กล่าว
ในกรณีที่เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นกับผู้สูงอายุภายในศูนย์ฯ ทางโรงพยาบาลยันฮีจะส่งแพทย์เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดโดยทันที มีการดูแลโดยให้ยาป้องกันตามภาวะโรคของผู้ป่วยเฉพาะราย มีการตรวจสุขภาพเป็นระยะโดยแพทย์ประจำศูนย์ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ผู้สูงอายุ จะมีสุขภาพกาย ใจที่ดีอยู่เสมอ และหากกรณีมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถส่งตัวมารักษาภายในโรงพยาบาลยันฮีได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สามารถสร้างความมั่นใจแก่ญาติ เนื่องจากอยู่ใกล้หมอตลอดเวลา จึงทำให้สามารถเดินทางไปทำงานหรือทำหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบได้อย่างสบายใจ”
นายแพทย์ชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลักเกณฑ์การรับผู้สูงอายุเข้ามาดูแล ภายในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ทางโรงพยาบาลยันฮีจะพิจารณาดังนี้
- ผู้สูงอายุไม่มีโรคประจำตัว แต่ต้องการ การดูแลช่วยเหลือในเรื่องกิจวัตรประจำวัน
- ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวที่มีอาการคงที่ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต
- ผู้ป่วยสูงอายุที่ต้องนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา แต่มีอาการคงที่ แต่จำเป็นต้องให้ออกซิเจน เจาะคอ ดูดเสมหะ พ่นยา ให้อาหารทางสายยางหรือป้อนอาหาร และจำเป็นต้องดูแลเรื่องการขับถ่ายและการทำแผล
- ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ ต้องการการรักษาแบบประคับประคอง คือ ดูแลตามอาการ เพื่อให้สุขสบายตัว
สำหรับการวางแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อลดความเครียดให้กับผู้สูงอายุ ตลอดจนคลายความกังวลแก่ญาติในระหว่างที่พักรักษาตัวในศูนย์ฯ นั้น นายแพทย์ชวลิต อธิบายว่า “ทางศูนย์ฯ จะมีการประเมินความสามารถเป็นรายบุคคลเช่นกัน เพื่อวางแผนการกระตุ้นให้มีกิจกรรมเสริมสุขภาพ มีการจัดกิจกรรมกลุ่มสันทนาการ อาทิ ร้องเพลงคาราโอเกะ เกมฝึกสมอง การออกกำลังกายยามบ่าย ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตรภายในหอพักผู้ป่วย การรดน้ำดำหัวขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคลเนื่องในวันสงกรานต์ และวันสำคัญอื่นๆ อาทิ เทศกาลวันแม่-วันพ่อแห่งชาติ ,เทศกาลปีใหม่ เป็นต้น”
“ผู้สูงวัย เป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรม ถดถอยในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคเรื้อรังที่ต้องดูแลและรักษาอย่างใกล้ชิด อีกทั้งความเป็น ‘ผู้สูงอายุ’ นั้นจะมีความแตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย ระหว่างเขตเมืองและชนบท จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลจากผู้ที่มีความชำนาญและประสบการณ์เฉพาะด้าน และต้องมีใจรักในการบริการ ใจเย็น อ่อนโยน มีความอดทน และมีความยืดหยุ่นในตัวเองสูง เพื่อปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวการณ์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับทิศทางในการพัฒนาศูนย์ผู้สูงอายุ ทางโรงพยาบาลฯ มีการวางแผนจะขยายหอผู้ป่วยเพิ่มอีกจำนวน 80 เตียง เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบต่างๆ ภายในศูนย์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนลดช่องว่างเพื่อให้ผู้สูงอายุได้เชื่อมต่อกับญาติได้สะดวกและใกล้ชิดกว่าเดิม พร้อมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อสร้างมาตรฐานการดูแลให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับการก้าวสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด(Super-aged Society)’ ในอนาคตข้างหน้าต่อไป” นายแพทย์ชวลิต กล่าว ทิ้งท้าย
ท่านสามารถสอบถามหรือรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการข้อมูล โรงพยาบาลยันฮี โทร.1723 หรือ Facebook:โรงพยาบาลยันฮี Yanhee Hospital Line:yanhee Hospital และIG: yanheehospital_official