“นอกจากทำ Banoffee ขายผมไม่ได้ทำอย่างอื่น ช่วงที่ไม่ได้บินผมก็ทำงานทุกวัน ช่วยทำแผนฟื้นฟูให้การบินไทยต้องไปออฟฟิศตลอด ไม่ค่อยมีเวลาทำขนม ต้องขอโทษลูกค้าไปเยอะ เพราะไม่มีเวลาเลยจริงๆ”
โควิด-19 ที่แพร่ระบาดกว่า 1 ปี เปลี่ยนวิถีชีวิตการเดินทางอย่างสิ้นเชิง ทำให้ธุรกิจการบินกลายเป็น 1 ในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาชีพที่เกี่ยวข้องกับแวดวงสายการบินต้องปรับตัวขนานใหญ่จากสถานการณ์ดังกล่าว The Good News Asia มีโอกาสพูดคุยกับ “กัปตัน อารยะ แดงฉาย” หรือกัปตันอ๊อด นักบินการบินไทย ขับเครื่องบิน Boeing 777 และ Boeing 787 , Deputy Chief Technical pilot Boeing 787 ที่สวมหมวกอีกใบเป็น Chef ขาย Banoffee ภายใต้แบรนด์ “Chef Odd” หนึ่งในตัวอย่างของหลายคนที่ไม่นอนรอโอกาสท่ามกลางวิกฤติโควิด ขณะที่สถานะของบริษัทการบินไทยอยู่ระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟู
นักบินจะถูกฝึกให้คิดเผื่อไว้ทุกอย่าง นำมาปรับใช้ชีวิตประจำวันได้ในทุกเรื่อง
กัปตันอ๊อด บอกว่า ในมุมมองของนักบินส่วนใหญ่ เวลาจะบินเราจะมีสำรองตลอดเวลาในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะมีน้ำมันสำรอง ระบบสำรอง เครื่องยนต์ที่แค่เครื่องเดียวก็บินได้ หรือแม้กระทั่งสนามบินสำรอง เราจะถูกฝึกให้คิดเผื่อไว้ทุกอย่าง เรื่องนี้จึงสามารถนำมาปรับใช้ชีวิตประจำวันได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เกิดโควิดผมไม่คิดว่าตัวเองรู้สึกเดือดร้อน เพราะคิดว่าเราไม่ได้ป่วย เรายังมีมือมีเท้า อะไรที่ทำได้ก็ทำจะเห็นหลายๆคนออกไปขายของบ้าง โน่นนี่นั่นมันก็เลยทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ย่อท้อ
สภาพจิตใจของผมก็ไม่ได้มีปัญหารู้สึกเฉยๆ สมมุติว่าเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่าน บริษัทประกาศรายชื่อการคัดเลือกนักบิน ว่าจะได้บินต่อหรือต้องย้ายไปทำแผนกอื่น ถ้าไม่มีชื่อผมก็ไม่เป็นไร ไม่ได้บินก็ไม่เป็นไร บริษัทล้มละลายก็ไม่เป็นไรอย่างน้อยเราก็มีครอบครัว มีมือมีเท้า เรามีความสามารถพอทำอาหารได้ เราก็คิดว่าชีวิตนี้ไม่อดตายก็อาจจะไม่ได้มีเงินเยอะเหมือนเมื่อก่อนแต่ก็อยู่ได้ แต่บางคนอาจจะคิดว่าพอไม่ได้เป็นตรงนี้(อาชีพนักบิน) อาจจะรู้สึกว่าทำไมเราต้องตกงานทำไมเราทำงานเก่าไม่ได้
จุดเริ่มต้นทำ Banoffee เพราะลูกชอบ ภริยาช่วยเป็นลูกมือ เพื่อนชิมแล้วประกาศขายให้ไม่ทันตั้งตัว
จุดเริ่มต้นในการหันมาทำขนม “ Banoffee by Chef Odd” ขาย เนื่องจากลูกชอบกินทั้งที่ผมเป็นคนไม่กินขนม แต่ชอบสรรหาของกินอร่อยๆเวลาเราไปบิน แล้วผมก็ชอบทำอาหารเวลาไปกินอะไรอร่อยๆมา ก็คิดว่าลองกลับมาทำให้ลูกกินดูก็มาจากตรงนั้น โดยไม่ได้เข้าคอร์สเรียนทำอาหารหรือทำขนมเลยแต่ศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่ง Banoffee ผมลองชิมดูก็เห็นว่าทำไม่ยากเลยลองทำเอง รู้ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ก็ออกมาเป็นรูปแบบของเราที่ไม่เหมือนคนอื่น โดยมีภริยาซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานต้อนรับสายการบินเดียวกันช่วยเป็นลูกมือ
กัปตันอ๊อด หรือ Chef Odd เล่าย้อนให้ฟังถึงการขาย Banoffee ว่า วันที่ผมทำให้ลูกๆกินเป็นวันแรก เผอิญมีเพื่อนมากินข้าวที่บ้าน เพื่อนชิมแล้วเอาไปประกาศขายโดยที่ไม่ได้ถามว่าผมจะขายหรือเปล่า (หัวเราะ) พอผมเดินกลับมาจากครัว เพื่อนก็บอกว่าประกาศขายให้แล้วนะ 40 กล่องหมดแล้วด้วย ถือว่าเป็นการบีบบังคับให้ทำไปในตัวหลังจากนั้นพอทำแล้วคนก็ชอบ ว่าของเราไม่เหมือนคนอื่นก็เลยทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่หยุดบินประมาณ 1 ปี ก่อนล็อกดาวน์ปีที่แล้ว แต่ก็ทำได้ไม่เยอะเพราะเรามีกำลังแค่นี้ เพื่อนเคยซื้อไป 6 กล่องหรือ 10 กล่อง นำไปฝากเพื่อนๆกิน และเพื่อนคนอื่นก็เห็นขนมของผม ก็จะแอด LINE มาสั่งซื้อเอง แล้วก็ขยายไปเรื่อยๆ ไม่ได้ทำการตลาดแบบจริงจังอะไรมากมาย ผมขายกล่องละ 150 บาท วันนึงทำ 40 กล่องบ้าง 60 กล่องบ้างก็พอเลี้ยงครอบครัวได้
ส่วนจุดเด่น Banoffee ของ Chef Odd คือ ผมเป็นคนกินมาเยอะแล้วค่อนข้างพิถีพิถันเรื่องการกิน อะไรไม่อร่อยผมก็ไม่กิน ฉะนั้นเวลาทำอะไรถ้าทำด้วยใจก็จะออกมาดี จุดเริ่มต้นของผมคืออยากให้ลูกๆกินของที่อร่อยที่สุดเท่าที่เราทำได้ ผมคิดว่าถ้าทุกคนมีแนวทางในการขายของสุดท้ายมันจะดีเอง แต่ต้องเป็นคนช่างสังเกตว่าอันไหนพอทำแล้วผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไรด้วย เช่น ขนมปังโอริโอ้ที่บดเป็นเศษ ครั้งหนึ่งผมขี้เกียจบดด้วยมือเพราะใช้เวลานานมาก ก็เลยนำไปใส่เครื่องปั่นเร็วกว่าเยอะ พอทำล็อตนั้นชิมคำแรกรู้เลยว่ามันไม่เหมือนที่เราอยากได้ ก็จำเป็นที่ต้องกลับไปใช้วิธีเดิม ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญก็คือต้องเป็นคนช่างสังเกตว่ามีความผิดพลาดอะไรตรงไหน คงไม่ได้ดีในครั้งแรกแต่ถ้าเราพัฒนาไปเรื่อยๆสุดท้ายมันก็โอเค เราโชคดีที่มีพื้นฐานด้านการทำอาหารอยู่แล้วก็เลยง่าย
จากที่บินไปหลายประเทศเห็นรูปแบบของแปลกๆใหม่ๆ ก็จะหยิบมาลองทำดู หรือบางทีกินร้านนี้แล้วคิดว่าลูกชอบกิน แต่ทำไมมันหวานจังหรือพอเราไปเปิดอินเทอร์เน็ตดูสูตรการทำ เห็นว่าส่วนผสมบางอย่างเป็นสิ่งที่ไม่ควรใช้ให้ลูกกิน เราจะเจอแบบนั้นเยอะ เช่น Banoffee บางที่เขาจะใช้นมข้นหวานแทนที่จะเป็นคาราเมล เราก็คิดว่านมข้นหวานมันไม่ใช่อาหารที่ดี เราก็จะเปลี่ยนไปใช้อย่างอื่นแทนเพราะหลักๆเลยก็คือเราอยากให้ลูกกินของดี จุดเริ่มต้นมาจากตรงนั้นมากกว่า
ส่วนในเรื่องของรสชาตินั้น ผมเป็นคนไม่กินหวานก็จะพยามปรับลดความหวานให้อยู่ในระดับที่กินแล้วยังรู้สึกว่าเป็นขนม แต่ไม่หวานมาก บางคนอาจจะไม่ชอบบางคนอาจจะบอกว่ามันหวานน้อยไป แต่ผมคิดว่าจะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ชอบแบบนี้ บางคนก็บอกว่านี่แหละ Banoffee แบบนี้ที่เขาตามหาไม่หวานมาก ผมค่อนข้างจุกจิกในเรื่องความเป๊ะของส่วนผสมแต่ละชิ้น ต้องชั่งน้ำหนักให้พอดีเป๊ะ แม้กระทั่งกล้วยหอมผมจะตัดตรงหัวชิมทุกลูก ถ้าลูกไหนไม่อร่อยก็ไม่เอา บางทีผ่ากล้วยหอมไปเจอเมล็ดหรือเนื้อเป็นใตๆก็ต้องทิ้งเลย หรือโอริโอ้ถ้าบิออกมาแล้วมีความชื้นก็ใช้ไม่ได้
ยังช่วยการบินไทยทำแผนฟื้นฟู ไม่ขายอย่างอื่นนอกจาก Banoffee
“ผมคิดว่าคนทั่วไปจะไม่ได้ใส่ใจวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ในการทำขนาดนี้ มันก็เป็นข้อเสียอย่างหนึ่งของผม แต่คิดว่ามันโอเคสำหรับลูกค้าที่เขาเชื่อใจเรา หรือถ้าสมมุติว่าวันนี้ผมไม่ทำแล้วให้แม่บ้านมาทำขนมแทน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำรสชาดเหมือนที่เราทำหรือไม่ ลูกค้าที่เชื่อใจซื้อขนมเราจะรู้สึกอย่างไรถ้ามันไม่เหมือนเดิม หรือแม่กระทั่งช็อกโกแลตยี่ห้อที่ใช้หมด เราก็ต้องบอกลูกค้าไปว่าขออภัย หาซื้อไม่ได้จะไม่เปลี่ยนไปใช้ยี่ห้ออื่น นอกจากทำBanoffee ขายผมไม่ได้ทำอย่างอื่น และช่วงที่ไม่ได้บินผมก็ทำงานทุกวัน ช่วยทำแผนฟื้นฟูให้การบินไทยต้องไปออฟฟิศตลอด แต่ช่วงนี้ Work From Home ก็จะไม่ค่อยมีเวลาทำขนม ต้องขอโทษลูกค้าไปเยอะเหมือนกันเพราะไม่มีเวลาเลยจริงๆ”
ฝีมือทำอาหารระดับ“มาสเตอร์เชฟ” ลูกช่วยติชมนำมาปรับปรุง เคยคิดผัดกระเพราขายแต่ต้องพับเก็บเพราะโควิด
นอกจากเรื่องขนมแล้ว Chef Odd ยังมีฝีมือในการทำอาหารถึงขนาดที่มีคนเคยชวนไปลงแข่งขัน “มาสเตอร์เชฟ” แต่บอกปฏิเสธไปเพราะไม่ต้องการมีชื่อเสียง เพียงต้องการทำอาหารให้ครองครัวทาน กับเป็นที่ปรึกษาให้ร้านอาหารมิชลินสตาร์ 4-5 ร้าน ก่อนที่จะเปิดร้านเขาก็จะให้ผมไปชิมเพื่อติชม หรือมีอะไรต้องปรับปรุงทั้งเรื่องเมนู รูปแบบร้าน ผมศึกษาเยอะไม่ใช่แค่ทำอาหาร แต่จะอ่านถึงต้นตอประวัติศาสตร์ของอาหาร ผมเป็นคนชอบทางนี้ก็มีความรู้อยู่บ้าง
อาหารที่ผมทำก็จะได้ลูกๆช่วยติชม เช่น เมนูนี้อะไรอ่อนไป อันนี้สุกไปหน่อย จัดจานยังไม่สวย เขาจะบอกทุกครั้งผมก็จะได้ตรงนี้มาคอยปรับปรุงอยู่เสมอ เวลาจัดอาหารทานข้าวจะต้องจัดวางแต่ละเมนูให้สวยน่าทาน ผมคิดว่าหลักสำคัญในการทำอาหารของครอบครัว คือ เราจะนึกเสมอว่าแม่เราทำอาหารเก่งที่สุด แต่ความจริงแม่เราไม่ได้ทำอาหารเก่งที่สุด เพียงแต่แม่สังเกตว่าแม่ทำอะไรให้เรากินแล้วเรากิน แม่ทำอะไรให้เรากินแล้วเราไม่ชอบกิน สุดท้ายก็จะออกมาเป็นอาหารที่เราคุ้นปากทุกครั้ง เพราะแม่เอาใจใส่เข้าไปในอาหารที่ทำให้เรากิน
Chef Odd บอกว่า เคยเป็นกรรมการตัดสินอาหาร Thailand Street Food ได้ชิมข้าวกระเพราร้านนึงขายราคาถูก 25 บาทรสชาติดี ห่วงโซ่ของมนุษย์สุดท้ายก็อยู่ที่อาหาร แล้วยิ่งเศรษฐกิจไม่ดีแบบนี้อาหารที่มีราคาแพง คนก็จะคิดว่าเป็นสิ่งแรกๆที่จะต้องปรับลดลง เลยมีความคิดว่าอยากขายข้าวกระเพราราคาถูกให้กับแรงงานแถวตลาดกีบหมู เพราะได้ปริมาณเยอะเป็นแหล่งที่ช่วงเช้าประมาณ 6 โมงจะมีรถมารับแรงงานไปทำงานตามที่ต่างๆ พอ 8 โมงคนก็ซาแล้วหมดแค่นั้นแล้วก็กลับไปทำอย่างอื่น ยอมตื่นเช้าหน่อยไม่ลำบาก วันนึงรายได้ 4,000 – 5,000 บาท ก็คิดว่าอยู่ได้ ไปดูสถานที่แล้วพอโควิดกลับมาระลอก 2 จากแรงงานข้ามชาติก็เลยต้องพับเก็บไว้
นักบิน เปรียบเหมือนคนรับจ้างไม่ต่างจากคนขับ 10 ล้อ- รถเมย์
“ผมมองว่าชีวิตมันไม่มีอะไรน่ากลัว แล้วก็ไม่มีอะไรที่น่าอาย ถ้าวันนึงเป็นนักบินแล้วต้องออกมาผัดกระเพราขายอยู่ในตลาดนัด ผมเฉยๆครับ ผมเป็นคนคิดเยอะคิด ละเอียดแต่ไม่ได้คิดมาก แต่บางคนต้องเข้าใจว่าเป็นนักบินแล้วจะมีอีโก้ (Ego) อันนี้ผมว่ามันเกินตัวเราไป ความเป็นอีโก้ของคำว่านักบิน ถ้าเราไม่มีตรงนี้ผมคิดว่าเราก็คนๆหนึ่งที่ทำงานหาเงิน ผมบอกลูกๆเสมอว่านักบินไม่ได้มีอะไรหรอกลูก มันก็แค่คนรับจ้างมันก็ไม่ต่างจากคนขับ 10 ล้อ หรือคนขับรถเมย์ เราก็ขับเครื่องยนต์เหมือนกันพาคนไปส่งจุดหมายเหมือนกัน คุณค่าเราก็ไม่ได้มากกว่าเขา เราก็เป็นพนักงานหาเงินธรรมดาเราเป็นลูกจ้าง บริษัทให้ทำอะไรเราก็ทำตามแค่นั้นเอง”จบโรงเรียนนายเรืออากาศ แต่ลาออกมาสอบนักบินการบินไทย แนะน้องๆเรียนสาขาวิชาชีพที่ทำงานอะไรก็ได้ เป็นทางเลือกได้มากกว่า
กัปตันอ๊อด เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า อยากเป็นนักบินตั้งแต่เด็กแต่หลังจากเรียนจบโรงเรียนนายเรืออากาศ ก็รู้สึกว่าอาชีพรับราชการทหารไม่เหมาะกับตัวเอง จึงลาออกมาสอบนักบินการบินไทยจนถึงปัจจุบัน 25 ปีแล้ว อยากฝากถึงน้องๆที่สนใจด้านการบินว่า ควรจะเรียนในสาขาวิชาชีพอื่นที่สามารถไปทำงานอะไรก็ได้ เพราะจะทำให้ทางเลือกเยอะขึ้น เพราะนักบินเป็นอาชีพเฉพาะมากๆ อยากให้มองอาชีพนักบินว่าเราหลงใหล เรามีความไฝ่ฝันที่อยากจะเป็นได้ แต่ไม่มีใครตอบได้ว่าเราจะได้ไปอยู่ตรงนั้นหรือเปล่า เพราะขั้นตอนการสอบต่างๆเยอะ ทั้งการทดสอบความถนัด ทดสอบจิตวิทยาการบิน ฯลฯ น้องอาจจะไม่ผ่านตรงนี้ ถ้าเราไม่ผ่านตรงนี้แล้วเราคิดอยู่อย่างเดียวว่า เกิดมาเราจะเป็นนักบินแล้วเราจะเฟล (Fail) แต่ถ้าเราคิดว่าการเป็นนักบินคือกำไรในชีวิต เป็นการเติมความฝันของเรา ได้ก็ดีไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเราก็ยังมีโอกาสที่จะไปทำอย่างอื่นได้อีก เช่น ถ้าเราเรียนวิศวะมาถ้าไม่ได้ตรงนั้น(นักบิน) เราก็ไปเป็นวิศวกรอยู่ในโรงงานหรือเปิดบริษัท ยังหาทางเลือกให้เราได้มากกว่า
เสน่ห์ของอาชีพนักบิน-เชฟ ตรงกับเด็กรุ่นใหม่
เสน่ห์ของอาชีพนักบินในมุมมองของกัปตันอ๊อด คือ ตรงกับเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างมาก ที่ไม่ต้องนั่งอยู่ในออฟฟิศ ไม่ต้องการทำงานแบบออฟฟิศฮาว ต้องการออกไปเปิดโลกกว้างได้อยู่กับเทคโนโลยีได้อยู่กับเครื่องจักร ที่สำคัญเวลาบินเราได้มองท้องฟ้า มองพระอาทิตย์กำลังตก ได้อยู่เหนือเมฆทำให้รู้สึกว่าเราโชคดีที่มีโอกาสขึ้นมาข้างบน ได้มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้เห็น แต่เราก็มีความสุข หรือแม้แต่กระทั่งอาชีพแอร์โฮสเตสก็เป็นอาชีพหนึ่งที่เป็นทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ต้องการความจำเจส่วนเสน่ห์ของอาชีพเชฟ เปรียบเสมือนศิลปินที่ประดิษฐ์อะไรสักอย่างเพื่อให้คนได้เสพ ความสุขของเชฟคือการที่เราผลิตอะไรไปสักอย่างแล้วคนอื่นได้กินก็มีความสุข ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เชฟทุกคนต้องการไม่ได้เพราะว่ามันได้เงินเยอะ อยากเชิญชวนน้องๆรุ่นใหม่ ถ้าคิดว่าการทำงานแบบออฟฟิศไม่ได้เหมาะกับเรา อาชีพเชฟก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถทำงานหาเลี้ยงได้อย่างดี และสามารถใส่ตัวตนของเราลงไปได้โดยที่ไม่ต้องถูกจำกัด เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการเป็นเชฟ ถ้าเราทำตามสูตรเราก็เป็นได้แค่พ่อครัว แต่เชฟต้องมีความ create สูง พร้อมกับทิ้งท้ายว่า ถ้าทำในสิ่งที่ตัวเองรักตัวเองชอบทุกอย่างก็จะประสบความสำเร็จครับ
( ใครที่สนใจชิม Banoffee สามารถสั่งได้ช่องทาง Line @ Chef Odd )