เปิดเบื้องหลังการทำงานพยาบาลชุดขาว กับการผลักดันหลักสูตรพยาบาลรามาธิบดีให้ก้าวสู่อนาคต
หากถามถึงอาชีพในฝันของเด็ก ๆ ‘พยาบาล’ น่าจะเป็นหนึ่งในคำตอบอันดับต้นๆ ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นผู้ดูแลรักษาคอยช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความเอาใจใส่ ที่ไม่เพียงดูแลทางร่างกาย แต่ยังดูแลถึงจิตใจ ทำให้เด็กหลายคนก้าวสู่เส้นทางของการเป็นพยาบาล แต่อาชีพนี้ยังถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่หลากหลายและท้าทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงก่อนหน้านี้ ถึงแม้ว่าการทำงานบนเส้นทางนี้จะยากและหนัก แต่เหล่าพยาบาลก็ยังคงยืนหยัดปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ต่อไป สองพยาบาลจากรั้วรามาธิบดี ในบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน แต่สวมหมวกสีขาวเช่นเดียวกันจะมาเล่าประสบการณ์และแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนแพทย์รามาธิบดีผลิตพยาบาลแห่งอนาคตเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป
พยาบาลด่านหน้าสู้วิกฤติโรคระบาดใหม่ที่ท้าทาย
ในขณะที่คนส่วนใหญ่มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความเสี่ยงใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการเอาชนะสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่กับ พว.รุจีรัตน์ แจ้งสุข หัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤต 95 (SDICU95) “แม้ว่าหอผู้ป่วยวิกฤติแห่งนี้จะเปิดดำเนินการเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของทีมพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาลในการดูแลผู้ป่วย “หอผู้ป่วยวิกฤต 95 ของโรคอุบัติใหม่ (emerging infectious diseases; EID) เป็นหลัก จึงมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนได้ดูแลผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19 ในการแพร่ระบาดระลอกที่ผ่านมา ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้ทุกคนมีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังมีการเตรียมพร้อมทั้งอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้งานวิจัย ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ในขณะนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันประชาชนได้รับฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง สามารถช่วยลดจำนวนของผู้ป่วยวิกฤติโควิด-19 ลงได้ แต่ในแง่ของโรคอุบัติใหม่ก็ถือเป็นเรื่องท้าทายที่ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งทีมก็ได้มีการเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพของทีมพยาบาลในการรับมือกับโรคต่าง ๆ เช่น โรคฝีดาษลิง หากมีผู้ป่วยติดเชื้อเกิดขึ้นในประเทศไทย”
กล่าวถึงความท้าทายของการทำงาน “ตอนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าหอผู้ป่วยวิกฤตแห่งนี้ยอมรับว่าตื่นเต้นและกดดัน เป็นบทบาทที่ค่อนข้างท้าทาย ทีมงานทุกคนรวมทั้งญาติผู้ป่วยต่างคาดหวังให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยเพียงใด ก็พร้อมทุ่มเททั้งพลังกาย พลังใจ องค์ความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่มี ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นหายและสามารถกลับบ้านได้ ซึ่งนี้ถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญ รวมถึงการเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งงานวิจัยและแนวทางการรักษายังมีไม่มากนัก แต่ในฐานะของพยาบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ยึดถือปฏิบัติตลอดที่อยู่ในวิชาชีพนี้ รวมถึงเป็นคำสอนที่ถ่ายทอดให้กับ พยาบาลรุ่นใหม่ หรือผู้ที่สนใจอยากก้าวเข้ามาทำงานด้านนี้” พว.รุจีรัตน์กล่าวด้วยภาคภูมิใจ
อาจารย์พยาบาลกับภารกิจสร้างพยาบาลแห่งอนาคต
รศ.ดร.พูลสุข เจนพานิชย์ วิสุทธิพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาหลักสูตรและผลิตบัณฑิตพยาบาลให้ก้าวออกไปช่วยเหลือดูแลประชาชนในสังคม ได้เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของหลักสูตรโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีว่า “รามาธิบดีมุ่งเน้นการผลิตพยาบาลแห่งอนาคต ซึ่งหมายถึงการมีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพในอนาคต รวมถึงโรคอุบัติใหม่ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อย่างคล่องแคล่ว รวมถึงต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมด้านจิตใจเพื่อพร้อมเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต”
“อีกหนึ่งความสำเร็จคือการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์ที่มุ่งเน้นความเป็นสากล โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของต่างประเทศกับ Deakin University มหาวิทยาลัยระดับต้นๆ ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งนักศึกษาจะเรียนที่รามาธิบดี 4 ปี แล้วจึงไปเรียนต่อที่ Deakin University อีก 1 ปี ทั้งนี้จะได้ปริญญาถึง 2 ใบ คือจากมหาวิทยาลัยมหิดล และ Deakin University ในขณะเดียวกันโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีมีหลักสูตรต่อเนื่อง คือหลักสูตรปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์ ปริญญาโทระบาดวิทยา ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างพยาบาลนักวิจัยที่สามารถทำงานร่วมกับแพทย์ และสหสาขาวิชาชีพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะทางระบาดวิทยา
นอกจากนี้ยังผลักดันการเปิดรับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีจากสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สาธารณสุข หรือวิทยาศาสตร์ทั่วไปที่สนใจอยากเป็นพยาบาลก็สามารถสมัครเข้าเรียนต่อที่รามาธิบดีได้ โดยใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปีครึ่งเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางการผลิตพยาบาลให้เพียงพอกับความต้องการในสังคมไทย และโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ยังได้วางแผนเปิดศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุร่วมกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยในปี พ.ศ. 2565 นี้เรามีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 12 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 18.3% จากจำนวนประชากรทั้งหมด ทำให้ความต้องการพยาบาลวิชาชีพเพิ่มขึ้น รามาธิบดีพร้อมเดินหน้าผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป” รศ.ดร.พูลสุข กล่าวเพิ่มเติมปิดท้าย
นอกจากบุคลากรที่พร้อมด้วยแรงใจแรงกาย อาจไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ด้วยน้ำใจของคนไทยที่ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อช่วยเหลือพันธกิจต่าง ๆ อาทิ การจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ การช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยยากไร้ การช่วยเหลือทุนการศึกษาแก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ ทำให้การช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยนั้นสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างไม่สิ้นสุด
#คำว่าให้ไม่สิ้นสุด