เปิดรั้วปี 65 … คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดเต็มหลักสูตรวิชาการ + วิทยาการ ป้อนบุคลากรคุณภาพให้กับการแพทย์ยุคใหม
เปิดรั้วเป็นทางการครั้งแรกในปี 2565 สำหรับ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งมีพันธกิจ คือ ผลิตบัณฑิต การสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม การให้บริการวิชาการ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม เติมเต็มบุคลากรการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนให้แก่ประเทศชาติ ตามปรัชญา “สร้าง ครูผู้สร้าง” “เติมเต็ม บุคลากรการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนให้แก่ประเทศชาติ” “พัฒนา ทุนทางปัญญาและความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์การแพทย์” “ก่อเกิด บ้านแห่งการเรียนรู้ชั่วชีวิต” และในปีการศึกษาล่าสุดนี้ได้เปิดคณะฯ เยี่ยมชมสถานที่ในการเรียนรู้ ฝึกสอน และปฏิบัติงานจริง อาทิ โรงเรียนนักอัลตราชาวด์ทางการแพทย์ โรงเรียนรังสีเทคนิค โรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ฯลฯ ภายในงานโชว์เทคโนโลยีทันสมัย อาทิ ห้องชีวกลศาสตร์ เป็นการวิเคราะห์ท่าทางการเคลื่อนไหวแบบ 3มิติ (3D-Dimension Movement Analysis) ตัวอย่างเครื่องมือที่นำมาสอนนักศึกษาเพื่อให้ก้าวไกลทันโลก ฯลฯ
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจิรพร เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้กล่าวถึงภาพรวมของคณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ที่มีวิสัยทัศน์ดำเนินการเป็นบ้านแห่งการเรียนรู้ เพื่อสร้างบุคลากร องค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศชาติและประชาชน พร้อมพันธกิจ ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพภายใต้หลักสูตรที่ได้มาตรฐานวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพ วิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์และการสาธารณสุขในลักษณะบูรณาการ สหวิทยาการเพื่อสร้างความเป็นเลิศวิชาการการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ รวมถึงการนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์รวมถึงสาธารณประโยชน์ ให้บริการทางวิชาการ วิชาชีพด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพบนพื้นฐานของมาตรฐานวิชาชีพและการสร้างทุนทางปัญญาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน อนุรักษ์ฟื้นฟูสืบสานและเผยแพร่ภูมิปัญญาการสร้างองค์ความรู้และทำความเข้าใจวัฒนธรรมวิถีชีวิตและสืบสานพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ทรงมุ่งหวังให้วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิจัยสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการและวิชาชีพเพื่อบริการมวลมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ภายใต้ปรัชญา “เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต”
ในปีการศึกษา 2565 นี้ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรระยะสั้นผลิตบุคลากรในสาขาวิชาชีพที่ขาดแคลน ในการเยี่ยมชมแต่ละหลักสูตรได้นำเสนอการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ประกอบด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเชษฎ์ สิริพงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ บรรยายถึงการจัดทำหลักสูตรโดยความร่วมมือในการจัดทำหลักสูตรอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ ระหว่างวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และ Monash University ประเทศออสเตรเลีย เพื่อให้เป็นหลักสูตรต้นแบบมุ่งผลิตนักอัลตราซาวด์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีประสิทธิภาพ เพื่อเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการเสริมการบริการและวิชาการ ทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ของประเทศ โดยหลักสูตรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักรังสีเทคนิค แพทย์ พยาบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านอัลตราซาวด์ทางการแพทย์สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ในทุกที่ ทุกเวลาทุกโอกาส ทั้งยังส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้สามารถเข้าสู่การศึกษาในระบบมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ในกิจกรรมการเยี่ยมชมมีการทำอัลตราซาวด์แสดงให้เห็นถึงการตรวจในแต่ละส่วนของร่างกายที่มากกว่าแค่การตรวจอัลตราซาวด์ภายในช่องท้อง หรือการอัลตราซาวด์ทางสูติศาสตร์ นอกจากนี้หลักสูตรฯ ยังส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น สอดคล้องกับปรัชญาของคณะฯในการ “สร้างครูผู้สร้าง”
อาจารย์ปรเมษฐ์ วงษา ผู้อำนวยการโรงเรียนรังสีเทคนิค บรรยายถึงหลักสูตรที่ผลิตนักรังสีเทคนิค มาจากการสร้างภาพทางการแพทย์มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยแพทย์วินิจฉัย และรักษาโรคในผู้ป่วย ทำให้ประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานรังสีวิทยาเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะนักรังสีเทคนิคเป็นที่ต้องการและถือเป็นวิชาชีพขาดแคลนในประเทศไทย ปัจจุบันหลักสูตรเปิดดำเนินการมาเป็นปีที่ 6 ดำเนินการเรียนการสอนโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งรังสีวินิจฉัย รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษามีโอกาสได้เรียนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติกับเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ ที่ศูนย์ภาพวินิจฉัยและร่วมรักษาเพื่อปวงชน ได้แก่ เครื่อง MRI 1.5 เทสลา และเครื่อง MRI ขนาด 3 เทสลา จำนวน 3 เครื่อง และมีเครื่อง MRI แบบพิเศษ คือ MRI Upright และ MRI HIFU นอกจากนี้ในส่วนของเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ CT ยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้ง 3 แบบ ได้แก่ CT Dual source, kV switching, Dual Layer ที่พร้อมให้นักศึกษาของเราไปเรียนรู้และฝึกงาน ส่วนทางด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ นักศึกษาจะได้มีโอกาส ไปเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ณ ศูนย์ไซโคลตรอนและเพทสแกนแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือที่ทันสมัย ได้แก่ เครื่องถ่ายภาพ Digital PET/CT เครื่องแรกของประเทศไทยจำนวน 2 เครื่อง และเครื่อง PET/MRI เครื่องแรกและเครื่องเดียวของประเทศไทย เครื่อง Cyclotron และ Module สำหรับการผลิตสารเภสัชรังสีต่างๆ และด้านรังสีรักษานักศึกษาจะได้มีโอกาสเรียนรู้เครื่องมือและฝึกปฏิบัติ ณ งานรังสีรักษามะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้เพื่อช่วยแพทย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ หิรัญรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ บรรยายถึงภาพรวมของหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวและสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักสูตรใหม่แห่งแรกของประเทศไทย ใช้เวลาศึกษา 4 ปี ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในภาคทฤษฎีประกอบด้วยวิชาหลักที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว เช่น กายวิภาคศาสตร์ ชีวกลศาสตร์ สรีรวิทยาการออกกำลังกาย จิตวิทยา โภชนาการ เป็นต้น ในส่วนการฝึกภาคปฏิบัติจะเริ่มฝึกประสบการณ์ในการทำงานจริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ซึ่งต้องฝึกงานทั้งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สถานออกกำลังกายทั้งภายในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และภายนอก เช่น หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สโมสรกีฬา ทั้งเพื่อสุขภาพ และเพื่อนักกีฬาชั้นเลิศ และทีมกีฬาอาชีพ เช่น ทีมฟุตบอล วอลเลย์บอล เป็นต้น นอกจากนี้นักศึกษาต้องมีงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมและปฏิบัติงานจิตอาสาเพื่อชุมชนในระหว่างการศึกษาอีกด้วย ทั้งนี้ ในกิจกรรมการเยี่ยมชม ห้องชีวกลศาสตร์ มี คุณบิ๊ก ทองภูมิ สิริพิพัฒน์ เป็นแขกรับเชิญในการทดสอบการวิเคราะห์ท่าทางการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ (3D-Dimension Movement Analysis) เป็นการวิเคราะห์ท่าทางโดยมีการติดเครื่องหมายสะท้อนแสงที่ปุ่มกระดูกหรือข้อต่อ และใช้กล้องบันทึกภาพการเคลื่อนไหว จากนั้นใช้โปรแกรมเฉพาะเพื่อวิเคราะห์ตัวแปรทางคิเนเมติกส์และคิเนติกส์ของการเคลื่อนไหว เช่น มุมองศาของข้อต่อ ความเร็วเชิงเส้น เชิงมุมของข้อต่อ และแรงปฏิกิริยาในแนวดิ่งจากพื้น เป็นต้น เพื่อประเมินและวางแผนในพัฒนาการฝึกซ้อมของนักกีฬาให้มีพัฒนาการที่ดีมากยิ่งขึ้น
อาจารย์ นายแพทย์สุขสันต์ กนกศิลป์ อาจารย์ประจำหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้บรรยายและจำกัดความถึงนักฉุกเฉินการแพทย์ไว้ว่า “นักฉุกเฉินการแพทย์มืออาชีพ เชี่ยวชาญพร้อมช่วยเหลือสังคม” ทางหลักสูตรมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความชำนาญ และทักษะด้านฉุกเฉินการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้นได้รับการผดุงชีวิตรวมทั้งป้องกันการเสียชีวิตหรือการรุนแรงขึ้นของการบาดเจ็บหรืออาการป่วยนั้นได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ มีคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณและเจตคติที่ดีตามมาตรฐานการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับสหวิชาชีพในงานฉุกเฉินการแพทย์ได้อย่างถูกต้อง เพื่อลดอัตราความเสี่ยงและความสูญเสียของผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินให้ได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินก่อนถึงมือผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีความทันสมัยเข้ากับบริบทของประเทศและนานาชาติ นำไปสู่การวิจัย ช่วยเหลือ และการถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นได้ ปัจจุบัน เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชาฉุกเฉินการแพทย์ (ต่อเนื่อง) เป็นสาขาของการประกอบโรคศิลปะด้านสุขภาพที่กระทำต่อผู้ป่วยฉุกเฉินนอกสถานพยาบาลเป็นหลัก รวมทั้งสามารถดูแลเบื้องต้นในห้องฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินนั้นได้รับการช่วยชีวิตและป้องกันการเสียชีวิต โดยกิจกรรมเยี่ยมชมยังจำลองสถานการณ์การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุพลัดตกจากที่สูง มีการปวดเจ็บต้นคอและแผ่นหลังเคลื่อนย้ายขึ้นรถพยาบาล (Ambulance) ตลอดจนสาธิตเครื่องมือและอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ทัน สมัยภายในรถก่อนนำผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลต่อไป
ท้ายสุด อาจารย์รดา เพ็ชรขัน ผู้อำนวยการโรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล ได้บรรยายถึงการจัดทำหลักสูตรมาจากปัจจุบันสถานพยาบาลและโรงพยาบาลเพิ่มจำนวนมากขึ้น มีการแข่งขันเพื่อสร้างคุณภาพและมาตรฐานในการให้บริการ ในขณะที่ผู้รับบริการต่างก็มีความต้องการและคาดหวังที่จะได้รับการบริการอย่างทั่วถึง รวดเร็ว มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งสวนทางกับปัญหาการให้บริการด้านสุขภาพของสถานพยาบาลในประเทศไทย จากการที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระงานที่ได้รับมอบหมายนอกเหนือจากการปฏิบัติวิชาชีพคือ งานสนับสนุนที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติควบคู่ไปกับการให้บริการรักษาพยาบาล และการบริการทางการแพทย์ ซึ่งการปฏิบัติงานดังกล่าวนี้ส่งผลต่อการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพในการให้บริการผู้ป่วยที่มารับบริการ ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ เห็นเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาการใช้บุคลากรวิชาชีพไม่ตรงตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือภาระงานที่ไม่ใช่ภาระงานโดยตรง จึงได้จัดตั้งโรงเรียนนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานพยาบาล และพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการงานธุรการสถานพยาบาล หลักสูตร 1 ปี เป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย จัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการฟื้นฟู และพัฒนาทักษะ (Re-skills and Up-skills) ด้วยกระบวนการเรียนการสอนแบบบูรณาการความรู้ควบคู่กับการปฏิบัติงาน (WIL: Work Integrate Learning) เพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีทักษะและมีคุณลักษณะเฉพาะที่เหมาะสม มีความพร้อมปฏิบัติงานในการสนับสนุนการดำเนินงานของสถานพยาบาล ตามความชำนาญเฉพาะที่ผู้เรียนเลือกศึกษาอย่างมีคุณภาพ
คณะเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ตั้ง 906 ถนนกำแพงเพชร 6 แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ10210
โทร.0-2576-6000 ต่อ 8753 อีเมล์ healthsciences@pccms.ac.th
เว็บไซต์ http://hst.pccms.ac.th/ เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/HST.PCCMS