(13 ส.ค.2565 /จังหวัดนครราชสีมา) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา จัดกิจกรรม “ปลูกป่า 90 ไร่ 9,000 ต้น” ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช นครราชสีมา ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งสอดรับการดำเนินงานโครงการ ASEAN Green Initiative และกิจกรรม CSR ของ วว. โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาร่วมกับการปลูกต้นไม้ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช มุ่งสู่การสร้างต้นแบบป่าครัวเรือน เพื่อเป็นแหล่งอาหาร/สร้างรายได้ที่ยั่งยืน
โอกาสนี้ วว. ได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายปริชญ์ รังสิมานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคม วว. นายสมพร มั่งมี กรรมการบริหาร วว. นางฐิติมา ตั้งประเสริฐ ประธานอนุกรรมการกำกับดูแ ลกิจการที่ดี นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม ดร.จิตรา ชัยวิมล รองผู้ว่าการบริหาร พร้อมผู้บริหาร บุคลากรและหน่วยงานพันธมิตร ผู้แทนชุมชนรอบสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เข้าร่วมเป็นเกียรติและร่วมปลูกป่าด้วย
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดงานฯ ว่า กิจกรรม “ปลูกป่า 90 ไร่ 9,000 ต้น” ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ครั้งนี้ วว. และพันธมิตรร่วมสนองพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ ทรงให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การเสริมสร้างและปลูกฝังให้ราษฎรเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ดังนั้นในฐานะที่ วว. เป็นหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศ จึงมีแนวคิดในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ยกระดับการปลูกป่าโดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาร่วมกับการปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสภาวะการพึ่งพากับต้นไม้ชนิดที่เป็นพืชอาศัยแบบเกื้อกูลกัน และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ช่วยสร้างพื้นที่ต้นแบบนิเวศป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นแบบสำหรับการสร้างป่าครัวเรือน เพื่อเป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา วว. ประสบผลสำเร็จในการถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกไม้เศรษฐกิจ ร่วมกับเทคโนโลยีการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซาในหลายพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนโครงการฯ จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลการดำเนินงานได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชนทั่วประเทศ ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเห็ดไมคอร์ไรซามาใช้ประโยชน์ร่วมกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ ส่งผลให้พืชเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์ มากกว่าพืชที่ไม่ได้ใส่เชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา 2-3 เท่า
“…กิจกรรมการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 90 ไร่ 9,000 ต้น ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดตัวกิจกรรมปลูกป่าอย่างเป็นทางการ วว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับการสร้างแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่ในด้านการปลูกป่าพร้อมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา สร้างงานและสร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น นอกจากนี้การดำเนินกิจกรรมยังสอดคล้องกับการดำเนินโครงการ ASEAN Green Initiative และกิจกรรม CSR ของ วว. ที่มีเป้าหมายให้ชุมชนเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งเป็นรากฐานของการทำให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน…” ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวสรุป
นายปริชญ์ รังสิมานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและความรับผิดชอบต่อสังคม วว. กล่าวว่า สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานีวิจัยส่วนภูมิภาคของ วว. ที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 168 พื้นที่ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงทั้งด้านพันธุ์พืชและสัตว์ป่า เป็นสถานีวิจัยที่มุ่งแสวงหาความร่วมมือในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า สถานีฯ จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจแบบผสมผสานในพื้นที่ให้แก่ชุมชนโดยรอบมาอย่างต่อเนื่อง
“…การปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติในวันนี้ เป็นการปลูกป่าพรรณไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้มะค่า ไม้แดง ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซา ที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตและลดอัตราการตาย อีกทั้งยังมีผลพลอยได้เป็นเห็ดป่ากินได้แก่ชุมชนโดยรอบสถานี ฯ จึงนับเป็นกิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบป่านิเวศ ป่ากินได้ ป่าเศรษฐกิจ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประชาชนสามารถใช้เป็นแหล่งอาหาร และเป็นต้นแบบสำหรับการปลูกป่าเพื่อสร้างรายได้และสร้างแหล่งอาหาร เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนและผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าปลูกเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจ การคำนวณปริมาณการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 capture และการขายคาร์บอนเครดิตภายในพื้นที่ป่าของตนเองเมื่อได้รับการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนตามมาตรฐาน และสนับสนุนเป้าหมายที่มุ่งสู่ Net Zero Emissions ของประเทศ…” นายปริชญ์ รังสิมานนท์ กล่าว
อนึ่ง วว. กำหนดจัดกิจกรรม “ปลูกป่า 90 ไร่ 9,000 ต้น” จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ 1) วันที่ 13 สิงหาคม 2565 ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 2) วันที่ 16 สิงหาคม 2565 ณ สถานีวิจัยลำตะคอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยจะปลูกป่าเสริมเห็ดตับเต่าในพื้นที่แปลงสาธิต เพื่อการเรียนรู้ การสร้างรายได้จากการปลูกป่า 3) วันที่ 30 สิงหาคม 2565 ณ พื้นที่ดำเนินงานของ วว. จำนวน 3 แห่ง โดยจะปลูกต้นกัลปพฤกษ์ และไทรทริส ซึ่งเป็นไทรสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบโดย วว. ได้แก่ 1.สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี 2.ศูนย์ทดสอบและมาตรวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ และ 3. ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน ส่งเสริมสนับสนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th อีเมล : tistr@tistr.or.th line@TISTR IG : tistr_ig