จุดเริ่มต้นเล็กๆ จากจิตอาสาวัยกลางคนกว่า 20 คน ที่เห็นว่าชุมชนของตนเองนั้นมีผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาว และอยู่คนเดียวตามลำพัง บางคนไม่มีครอบครัว บางคนลูกหลานไปทำงานที่อื่น พอถึงเวลาป่วยไข้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้เอง จึงเกิดเป็นกลุ่มอาสา Care U พาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาลตามที่หมอนัด เพื่อช่วยเหลือคนชราในชุมชนกลุ่มฮักหมื่นสารบ้านงัวลาย ตำบลหายยา จังหวัดเชียงใหม่ และด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของกิจกรรมนี้ จึงถูกเสริมทัพด้วยพลังทีมของคนรุ่นใหม่จากโครงการ U2T มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งเป้ายกระดับกลุ่มอาสา Care U ในชุมชน ให้เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมในการดูแลผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่
จากโครงการ U2T (ยูทูที) หรือ โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ที่ต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤติการณ์โควิด-19 ในรายตำบลแบบบูรณาการ โดยให้มหาวิทยาลัยเป็น System Integrator มีอาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา และประชาชน ลงไปทำงานกับชุมชนพร้อมๆ กัน ซึ่งโครงการนี้ได้เข้าไปช่วยสนับสนุนการพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุ หากดูจากตัวเลขประชากรในจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีมากกว่า 300,000 คน เฉลี่ยแล้วมีผู้สูงวัยที่ต้องอยู่ลำพังกว่า 5,900 ครัวเรือน และตำบลหายยา จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่โครงการ U2T มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าไปช่วยกลุ่มอาสา Care U พาผู้สูงวัยไปโรงพยาบาลตามที่หมอนัด ผศ.ดร.ธันวา เบญจวรรณ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “ปัญหาหนึ่งที่พบในการอยู่ร่วมกับชุมชนในเขตเมืองคือ เรื่องปัญหาสุขภาพ การไปพบหมอของผู้สูงอายุ น้องๆ ในโครงการ จึงมาคุยกันว่าจะเสริมกิจกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วในชุมชนได้อย่างไร ซึ่งสิ่งแรกที่อยากจะทำคือ ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปทราบว่าปัญหามีอยู่จริงและมีการช่วยเหลือจากคนในชุมชน และเพื่อดูว่าจะมีกระบวนการอย่างอื่นอีกหรือไม่ที่จะเข้ามาส่งเสริมกิจกรรมนี้ให้ยั่งยืนต่อไปได้” น้องๆ จากโครงการ U2T ได้เริ่มดำเนินงานร่วมกับชุมชนในการเป็นผู้ประสานงานและได้สร้างเฟสบุ๊คเพจ “พาไปหายยา” เพื่อให้เกิดการรับรู้กับคนภายนอกว่าตำบลหายยามีของดีและกิจกรรมอะไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชาสัมพันธ์โครงการ Care U สำหรับผู้ที่สนใจและชุมชนใกล้เคียงที่อยากเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้สูงอายุ แบ่งเบาภาระให้กับคนในครอบครัว เนื่องจากลูกหลานบางส่วนต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด จึงไม่มีเวลาดูแลผู้สูงอายุได้อย่างใกล้ชิด
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ นำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาชุมชน เพื่อร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ สร้างตำแหน่งงานที่สอดรับกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น สร้างทักษะและประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ได้รับการจ้างงาน ที่สำคัญโครงการนี้จะเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัยและระหว่างสังคม เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง สามารถขยายผลและปรับใช้กับชุมชนเมืองหรือพื้นที่อื่นๆ ได้ในอนาคต