กรมชลประทาน ระดมกำลังสานต่อบริหารจัดการน้ำ ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังและน้ำทะลหนุนสูงทั่วประเทศ เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนโดยเร็ว พร้อมจัดบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน คาดระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง

 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนสูง ว่า ตนได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศบริหารจัดการน้ำตามแผนที่ได้วางไว้ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในขณะนี้ ซึ่งมีแผนของสำนักเครื่องจักรกลเพื่อช่วยอุทกภัยหลัก 3 จุดใหญ่ คือช่วยระบายนํ้าจากลุ่มนํ้าชีมูล  ช่วยระบายนํ้าที่ลุ่มตํ่าเจ้าพระยาและแม่นํ้าท่าจีน และ ช่วยระบายนํ้าภาคใต้ โดยใช้เครื่องสูบนํ้าและเครื่องผลักดันนํ้าพร้อมทั้งใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ประตูระบายน้ำ แก้มลิง ฝาย คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำต่างๆ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งการหน่วงน้ำ การจัดจราจรน้ำ และเร่งระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมระดมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำ โดยคาดการณ์ว่านับแต่นี้ไประดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่งสำหรับให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป

“ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเตรียมทั้งในเรื่องบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักรกลต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด พร้อมตรวจสอบระบบชลประทานให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำและพร้อมใช้งานในการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน รวมไปถึงการเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันต่อสถานการณ์      พร้อมเยียวยาและบรรเทาภัยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย และขอให้ทุกหน่วยงาน สร้างการรับรู้เรื่องสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำในด้านต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังสนับสนุนกระสอบทรายและสั่งการให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง อีกด้วย” นายประพิศ กล่าว

สำหรับพื้นที่ประสบอุทกภัยในตอนนี้ รวมทั้งสิ้น 20 จังหวัดได้แก่ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา อุบลราชธานี พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง ชัยนาท ลพบุรี นนทบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม อุทัยธานี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง  อันเนื่องมาจากจากอิทธิพลพายุและร่องมรสุม

กรมชลประทานในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องน้ำโดยตรง ไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมแก้ปัญหาและเร่งแผนบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง  โดยให้ความช่วยเหลือทั้งประเทศ (ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2564) ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 735 เครื่อง  เครื่องสูบน้ำ 1,630 ตัว  รถบรรทุกน้ำจำนวน 44 คัน และเครื่องจักรอื่น ๆ อีก 517 หน่วย คาดว่าจะสามารถเร่งระบายน้ำช่วยเหลือและบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนรับฟังข่าวสาร สถานการณ์น้ำ รวมไปถึงสภาพอากาศ จากทางหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าระดับน้ำ   จะเริ่มลดลงแล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โครงการชลประทานในพื้นที่ โทร 1460 สายด่วนกรมชลประทานได้ตลอดเวลา

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here