“ผมคิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่ชื่อของหลักสูตร น่าจะเป็นชื่อที่เป็นไปในทางบวก จึงใช้ชื่อว่า “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข”  ชื่อย่อว่า “4ส.” จะไม่ใช้ชื่อว่า “การจัดการความขัดแย้ง” ไม่เอา เพราะเราเน้นทางบวก”

พลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เท้าความถึงแนวคิดการก่อตั้งหลักสูตร “4ส.” ให้ The Good News Asia ฟัง ซึ่งหลักสูตรดังกล่าว เป็น 1 ใน 5 หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงของสถาบันพระปกเกล้า ที่ต้องเรียน 9 เดือน และได้รับประกาศนียบัตร-เข็มพระปกเกล้าฯแก่ผู้สำเร็จการศึกษา มีจุดประสงค์เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดความสมานฉันท์ของคนในชาติ ส่งเสริมให้ทุกคนร่วมมือกันในการฟื้นฟูประเทศทุกด้าน มีการถอดบทเรียนจากปัญหาความแตกแยกและความขัดแย้งที่ผ่าน ๆ มา เพื่อตอบสนองนโยบายและเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความสมานฉันท์

เริ่มต้นเขียนหลักสูตร “4ส.” โฟกัสไปที่ภาคใต้ เปิดกว้างไม่จำเป็นต้องจบปริญญาก็อบรมได้

หลักสูตร “4ส.” เริ่มขึ้นเมื่อ 12 ปีที่แล้ว คือ ปี 2550 ซึ่ง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าและเลขาธิการคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)ในขณะนั้น  มาชวนผมให้ทำงานที่สถาบันพระปกเกล้า เริ่มต้นจะให้ตั้งวิทยาลัยสมานฉันท์สันติสุข ตอนนั้นผมทำงานอยู่ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จึงได้ตกลงไปร่วมทำงานเขียนหลักสูตรของสถาบันฯ  โดยมีตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ด้านสันติวิธี องค์กรระหว่างประเทศ  กลุ่มงานต่างๆในมหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยคิดว่าควรจะมีรูปแบบเป็นอย่างไร  ซึ่งดร.บวรศักดิ์ บอกว่า กอส.มีแนวคิดว่าจะต้องมีหลักสูตรในการอบรมคนที่เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เริ่มต้นเขียนหลักสูตร “4ส.” ผมจึงได้โฟกัสไปที่ภาคใต้ โดยนำคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเรียน ประมาณ 20 คน รุ่นแรก ๆ ก็จะมีคนระดับประเทศ เช่น เตือนใจ ดีเทศน์ , มูฮำมัดอายุบ ปาทาน  เป็นต้น เราเปิดกว้างไม่จำเป็นต้องให้คนที่จบปริญญาตรีมาเรียน ต่างจากหลักสูตรอื่นในสถาบันพระปกเกล้าที่จะต้องจบปริญญาตรี จึงจะสมัครเรียนได้

แต่ละปีจะมีปราชญ์ชาวบ้านจบ ป.4 ข้ามาเรียนด้วย ตั้งแต่รุ่น 1 นอกจากนี้พระภิกษุยังให้ความสนใจมาเรียนกับเราตั้งแต่รุ่นที่ 1 จนถึงรุ่นปัจจุบัน( รุ่น11) เช่นกัน การเรียนในทุกปีทุกรุ่นเราพยายามที่จะให้ความรู้ในเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ โดยไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมา ซึ่งผมก็คิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่ชื่อของหลักสูตร ควรเป็นในทางบวก จึงใช้ชื่อว่า “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข”  ชื่อย่อว่า “4ส.” จะไม่ใช้ “การจัดการความขัดแย้ง” ไม่เอาแต่เราเน้นทางบวกก็ใช้ชื่อนี้ และโฟกัสเรื่องภาคใต้ประมาณ 3 รุ่น

ปัญหาบ้านเมืองเปลี่ยน ต้องโฟกัสเรื่องอื่นเพิ่ม

หลังจากนั้นสถานการณ์บ้านเมืองเริ่มมีปัญหาด้านอื่นๆมากขึ้น เช่น ปัญหาการเมือง เราก็เลยเอาเรื่องการเมืองมาบรรจุไว้ในหลักสูตรด้วย  ต่อมาก็มีปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เราก็นำเรื่องนี้เข้ามาเรียนด้วย เพราะฉะนั้นในหลักสูตร 4ส. จะคงด้านต่าง ๆ ในขณะนี้ 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1. เรื่องภาคใต้ 2. การเมือง 3.สิ่งแวดล้อม 4 .พหุวัฒนธรรม เช่น ชนเผ่าหรือคนที่มีความหลากหลายทางด้านศาสนา เชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ก็ให้มาเรียนด้วย เป็นรูปแบบหลักสูตรที่เราทำมาแล้ว

นักศึกษาหลักสูตรนี้คนที่มาเรียนเสมือนว่า เป็นตัวแทนของประเทศไทย เพราะมีหลากหลายอาชีพ ทั้งตำรวจ ทหาร ผู้พิพากษา อัยการ ทนาย เอ็นจีโอ ปราชญ์ชาวบ้าน พระ ข้าราชการ เอกชน พนักงานรัฐวิสาหกิจ สื่อมวลชน ฯลฯ มีเรื่องอะไรก็ปรึกษาหารือและหาทางออกร่วมกัน ถือเป็นจุดแข็งของ 4ส. อีกประการหนึ่งเน้นการเรียนปฏิบัติเป็นกรณีศึกษา  เราไม่ได้เรียนเฉพาะในห้องเท่านั้น นักศึกษาเรียนแล้วต้องนำไปปฏิบัติได้จริง และต้องทำกรณีศึกษาของแต่ละคน

จุดแข็งของหลักสูตร พานักศึกษาลงพื้นที่ทั่วประเทศ-ต่างประเทศ  แบ่งสายไม่ได้นั่งเรียนเฉพาะในห้อง

“จุดแข็งของเรา คือ พานักศึกษาลงพื้นที่ทั่วประเทศโดยมีการแบ่งสาย  ไม่ได้นั่งเรียนแต่เฉพาะในห้อง ในรอบหนึ่งรุ่นเท่าที่นับดูจะลงพื้นที่ประมาณ 40 -50 จุด แล้วนำมาแลกเปลี่ยนถอดบทเรียน ใครลงพื้นที่ดูงานที่ไหนก็มาเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังในห้องเรียนว่าเป็นอย่างไรบ้าง”

พลเอก เอกชัย บอกว่า ในห้องเรียนระยะหลังแบ่งกรณีศึกษา เป็น 3 เรื่องใน 1 รุ่นก็จะแบ่งกันกลุ่มละประมาณ 30 คน ต่างจากรุ่นที่ 1-5 ยังเป็นเรื่องเดียวอยู่  และแบ่งกลุ่มย่อยทั้งหมด 9 กลุ่ม ๆ ละ 10 คน (นักศึกษาแต่ละรุ่นมี 90 คน) แต่ทำเรื่องใหญ่เรื่องเดียว เช่น รุ่นที่ 1 ทำเรื่องยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 2 เรื่องสันติธานีเป็นเรื่องภาคใต้เรื่องเดียวเหมือนกัน

ตั้งแต่รุ่นที่ 6 เป็นต้นมามีกลุ่มความขัดแย้งเกิดขึ้นทั้ง เสื้อเหลือง เสื้อแดง พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย , แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) , คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กกปส.) มาเรียนในห้องเรียนด้วยกัน รุ่น 6 มีการจัดกิจกรรมสร้างความปรองดองผ่านละครเวที เรื่อง “สถานีปลายทาง” ( The Last Station) เอาคนที่ขัดแย้งมาเล่นละครด้วยกัน เป็นละครที่สะท้อนถึงสังคมไทยจริง ๆ เราพยายามจะให้คนที่มีความเห็นแตกต่างมาเรียนด้วย

เปลี่ยนคนเห็นต่างทางความคิดมาเป็นเพื่อน เรียนแล้วเข้าใจ-ถูกคอกัน

“เมื่อเรียน ๆ ไปหลายคนก็เข้าใจกัน สามารถพูดคุยและทำงานร่วมกันได้ นี่ คือสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียน ผมคิดว่าอุดมการณ์ของเขาอาจจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ทำให้เข้าใจฝ่ายตรงข้ามได้มากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ผิดจากเมื่อก่อนที่แทบจะฆ่ากันตาย เช่น วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน กับ วิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผู้ก่อตั้งกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ซึ่งเป็นคนละฝ่ายกันเมื่อก่อนแทบจะฆ่ากันตาย

แต่เพราะมาเรียน “4ส.”  ด้วยกันเขาบอกว่าบางทีนั่งคุยกันถึงเช้าเลย พอคุยกันแล้วมีความเข้าใจว่าทำไม ตอนนั้นเขาถึงได้ทำอย่างนั้น หรือ แทนคุณ  จิตต์อิสระ กับ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด จากที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ตอนนี้ก็เป็นเพื่อนสนิทกันเลย แต่ข้อเสียคือบางทีสังคมของเขาเองยังไม่ยอมรับ เพราะเคยเป็นแกนนำของกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเริ่มเปลี่ยนแปลง คนในสังคมตัวเองจึงไม่ยอมรับว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลงไป หลายคนเล่าให้ฟังว่าถูกพวกเดียวกันเองต่อว่า”

4ส.เป็นหลักสูตรที่ดีอันดับต้น ๆ ของสถาบันพระปกเกล้า และเป็น 1 ใน 5 หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงของสถาบันพระปกเกล้า ที่ต้องเรียน 9 เดือน  เราได้รับการตอบสนองที่ดีมาก และได้รับคำชมว่าพอไปเรียนแล้ว ไม่ได้เลิกแล้วต่อกันหรือหายกันไปเลย แต่นักศึกษายังร่วมกันทำงาน ทำกิจกรรม แสดงความเห็นหรือพบปะพูดคุยกันบ้างไม่ได้หายขาดจากกันไปเลย นี่เป็นสิ่งที่เป็นจุดดีของหลักสูตรนี้

และมีความเป็นไปได้ในอนาคต ตั้งใจว่าจะเปิด “4ส.ออนไลน์” เป็นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้คนที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ต้องเดินทางมาก็สามารถเรียนได้ อาจจะมีนัดเจอกันบ้างในหลักสูตร 1-2 ครั้ง  เรื่องนี้คือที่คิดไว้ซึ่งเข้ากับสถานการณ์ในยุคโควิด-19 ปัจจุบันนักศึกษา 4ส. ก็ต้องเรียนออนไลน์ผ่านซูมทั้งหมด เพราะมาเรียนในห้องเรียนเราต้องปรับตัวไปตามสถานการณ์

ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล  ทิ้งท้ายเชิญชวนคนที่สนใจสมัครเรียน 4ส.รุ่น 12 สนใจสมัครผ่านเว็บไซต์ของสถาบันพระปกเกล้าได้  โดยจะเปิดรับสมัครในเดือนมิถุนายนนี้

 


ศิษย์เก่า
4ส.” ซึ่งเคยผ่านการอบรมมาหลายหลักสูตรแล้ว มีความเห็นเกี่ยวกับ 4ส. อย่างไร

การเสริมสร้างสังคมสันติสุขริ่มจากปัจเจกบุคคล  การเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ลดอัตตา เพิ่มความนอบน้อม ใส่ใจรับฟังความคิดเห็น เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์…ดวงรัตน์  มหาวนิช  ผู้บริหารเว็บไซต์  The Good News Asia  และ กรรมการผู้จัดการบริษัท PRMC   บอกว่า ชื่อของหลักสูตรทำให้สนใจอยากเรียน ความหมายชัดเจนตรงไปตรงมา ในด้านการเรียนการสอนเหมือนเราได้กลับมาทบทวนบทเรียนจากภาคทฤษฎีนำไปสู่การปฏิบัติ  ได้นำสถานการณ์ที่เป็นปัญหาทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากตนเอง สังคม ประเทศชาติ มาคิดวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งร่วมกันอย่างสันติวิธี

เชื่อว่าทุกคนที่มาเรียนจะได้รับประสบการณ์นำไปปรับใช้กับตนเอง  สังคม ดิฉันเองพอเรียนไปได้สักพัก ด้วยความที่สนิทและเคารพรักต่อท่านพลเอก เอกชัย ศรีวิลาศ ซึ่งลูกศิษย์ทุกคนจะเรียกท่านว่า “ลุงเอก”ก็ตัดพ้อกับท่านว่า “ทำไมในหลักสูตร กว่าจะได้ซึ่งสันติวิธี มันถึง…เกิดความขัดแย้ง เข้มข้นเหลือเกิน !  ลุงเอก…กำหนดเนื้อหาวิชาและผู้เรียนมาได้เข้มจริง ๆ” จำแม่นเลย ลุงเอกบอกว่า  ทุกคนที่มาเรียนในห้องนี้ ก็เป็นเสมือน นี่คือ ประเทศชาติ เราทุกคนมาจากหลากหลายที่ เมื่อมาอยู่รวมกัน  ให้เรานึกถึงวันแรกของการพบกัน  และวันนี้… อยู่ดี ๆ ก็รู้สึกขัดใจกัน เพราะคิดเห็นไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ของตน  แบบนี้!  เราควรมาจัดการความขัดแย้ง หาทางออกของความสิ่งที่ขัดแย้งอย่างสันติวิธี  จากนั้นเราจะได้มาร่วมกันคิดร่วมกันแก้ไข ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ประเทศชาติต่อไป

ตรงนี้ทำให้มองอะไรได้ชัดเจนและได้แง่คิดหลักธรรมดี ได้เห็นลำดับขั้นพัฒนาการของผู้เรียนไปพร้อมกับความเข้มของหลักสูตร ที่ผู้เรียนต้องร่วมกันถกแถลง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสวนาหาทางออก ซึ่งการศึกษาดูงาน การเข้าถึงปัญหาทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ดี หรือเปลี่ยนทัศนคติไปเลย  ก่อนจบหลักสูตรก็ต้องถอดบทเรียน มีการนำเสนอแนวทาง วิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่สร้างขึ้น  เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาทางสังคม การเมืองได้อย่างสันติวิธีภายใต้สังคมพหุลวัฒนธรรมของประเทศเรา

สิ่งที่สำคัญมากของการเสริมสร้างสังคมสันติสุขเริ่มจากปัจเจกบุคคล  และการเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล  ลดอัตตา เพิ่มความนอบน้อม ใส่ใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  เคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  พยายามที่จะเข้าอกเข้าใจ และจริงใจไม่แอบแฝง มีทัศนคติที่ดี  เหล่านี้จะเป็นพลังด้านบวก ให้ทุกคนได้สร้างสรรค์แนวคิด  ที่เป็นประโยชน์และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข  เมื่อเกิดประเด็นปัญหาใด ๆ ขึ้น ก็จะสมัครสมานสามัคคี ช่วยกันแสวงหาแนวทางออกที่ดีได้

เนื้อหาของหลักสูตรดีมาก ๆ  เน้นการเรียนรู้ที่ค่อนข้างเข้มข้นทั้งในห้องเรียน-นอกห้องเรียน วางตารางการดูงาน มีเนื้อหาสาระ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

วิชชุกร คำจันทร์  ที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา บอกว่า เป็นหลักสูตรที่มีการผสมผสาน ระหว่างคนที่มีความเห็นต่างในสังคมได้ค่อนข้างดี รวมถึงมีการผสมผสานระหว่างผู้เรียนที่มีความแตกต่างทางด้านอายุได้ค่อนข้างดี  ด้านเนื้อหาของหลักสูตรก็ถือว่าดีมาก ๆ เพราะเน้นการเรียนรู้ที่ค่อนข้างจะเข้มข้นไม่ว่าทั้งในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน การดูงานต่างจังหวัด และการดูงานต่างประเทศ ก็เป็นการดูงานที่มีการวางตารางการดูงานที่มีเนื้อหาสาระสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

เท่าที่ได้เรียนหลักสูตรอื่นมาบ้าง มีความเห็นว่าหลักสูตรนี้ ค่อนข้างมีเนื้อหาสาระที่เข้มข้น และตรงกับวัตถุประสงค์ ของการทำหลักสูตรมาก  ข้อดีที่เป็นรูปธรรมในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากจบหลักสูตรแล้ว ก็คือ ความสามารถที่จะพูดคุยกับผู้ที่มีความเห็นต่าง และยินดีที่จะรับฟังความเห็นต่างอย่างตั้งใจ และยอมรับในความเห็นต่างนั้น  ส่วนผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมที่ตามมาก็คือ การสามารถเปลี่ยนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ไปเป็นพลังสร้างสรรค์ ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างแท้จริง

การที่นำบุคคลจากหลากหลายสังคมมาร่วมพูดคุย  จะนำไปสู่การช่วยผลักดันงานสันติวิธีในมิติต่าง ๆได้อย่างรอบด้าน

 นิพนธ์ ตั้งแสงประทีป  โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการ Big Story  เรื่องใหญ่Thai PBS  บอกว่า  เป็นหลักสูตรที่มีความแตกต่างและหลากหลายกว่าหลักสูตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาที่มีมิติ ไม่เฉพาะเรื่องหลักการของงานสันติวิธี แต่ยังมีเนื้อหาในภาคส่วนอื่น ๆ ที่บูรณาการกับเรื่องสันติวิธีด้วย เช่น เรื่องสื่อกับสันติวิธี  ที่สำคัญคือการศึกษาในหลักสูตรนี้ คัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมที่มาจากหลากหลายกลุ่มองค์กร ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมองทัศนคติ แนวคิดบนพื้นฐานของการพูดคุยด้วยเหตุและผล ซึ่งมักไม่พบในหลักสูตรอื่น ๆ

 

การที่นำบุคคลจากหลากหลายสังคมมาร่วมพูดคุย จะนำไปสู่การช่วยผลักดันงานสันติวิธีในมิติต่าง ๆ ได้อย่างรอบด้านจากมุมมองของทุกภาคส่วน ต้องยอมรับว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่กระบวนการแบ่งแยกทางความคิด จนนำมาสู่ความรุนแรงจะแก้ไขได้ ด้วยกระบวนการการพูดคุย ที่มาจากมุมมองที่แตกต่างที่นำมาตกผลึกก่อนปฏิบัติเท่านั้น

เรียนสนุกได้เนื้อหาความรู้มากประสบการณ์ที่ดี จากการลงพื้นที่เยอะ จากผู้เข้าอบรม คณาจารย์ที่บรรยาย แต่ควรเข้มงวดคัดเลือกคนเข้าอบรม ที่สนใจมีเวลาจริงๆ ไม่ใช่แค่แสกนมือแล้วกลับ เพราะหลักสูตรเรียนฟรีจากเงินภาษี

สิรวิชณ์ ภู่ทอง หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส พีโกล์ เซอร์วิส  บอกว่า ผู้ร่วมเข้าอบรมได้เข้าถึงปัญหาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้มากขึ้น จนถึงปัญหาในระดับหรากเหง้าต่าง ๆ ด้วย และนำความรู้จากทฤษฎีทางวิชาการ จากการลงพื้นที่เกิดปัญหาความขัดแย้งได้มีโอกาสพูดคุย  ถึงความต้องการต่าง ๆ ที่แท้จริงจากคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ และผู้ที่ได้รับการอบรมก็ยังนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ในหน่วยงานตัวเอง  ซึ่งในการนำไปใช้ก่อนอื่นทำให้เราเข้าใจต้นตอของปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมากขึ้น ว่ามีต้นตอจากอะไรบ้าง และทำให้เรารู้ถึงวิธีการที่จะหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนั้น ทำให้เราต้องปรับตัวเอง มองและฟังผู้อื่นมากขึ้น

 

หลักสูตร 4ส. เรียนสนุกได้เนื้อหาความรู้มาก และประสบการณ์ที่ดี จากการลงพื้นที่เยอะ ผู้เข้าร่วมอบรม และคณาจารย์ที่บรรยาย ในห้องเรียนคุ้มค่ามากๆ ในทุกวันศุกร์ 1วันต่ออาทิตย์ 9 เดือนที่อบรม ลงพื้นที่ 4ครั้งในประเทศ และ 1ครั้งในต่างประเทศ แต่ด้วยความที่เป็นหลักสูตรเรียนฟรีเงินงบประมาณจากภาษี อยากให้มีการเข้มงวดในการตัดเลือกบุคคลที่เข้าอบรม ที่สนใจและมีเวลาจริง ๆ ให้กับการเข้าร่วมอบรม ไม่ใช่แบบลักษณะหน่วยงานส่งมาโดยคนที่มาอบรมไม่ค่อยเต็มใจมาอบรม เวลามีกิจกรรมก็จะไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ เวลาเรียนก็ไม่ค่อยอยู่เรียน  แต่มาแค่แสกนมือแล้วกลับ เป็นต้น

ถ้าสันติสุขเล็กระหว่างคนในบ้าน ในบริษัท เพื่อนฝูงยังไม่ได้ ก็ยากที่จะหาความสันติสุขในสังคมหรือในประเทศ  มันเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้สติในการฝึกฝน

พรทิพย์ เตชะสมบูรณากิจ กรรมการบริหาร บริษัท เวิลด์เมดิคอลซัพพลาย จำกัด บอกว่า ให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานความคิดของการขัดแย้งในมิติต่าง ๆ เช่นด้านศาสนา เชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำ การจัดการทรัพยากร การละเมิดสิทธิต่าง ๆ การขัดกันของสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิชุมชน  การสวนทางของวิถีชาวบ้านกับทุนนิยม เมื่อพอมีพื้นฐานที่มาที่ไปของความขัดแย้ง  ก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางในการจัดการปัญหา จะทำอย่างไรให้เกิดสันติภาพ  วิธีการสร้างสันติภาพลดความขัดแย้งแบบ เฉพาะหน้า หรือแบบแก้ปัญหาถาวร  ซึ่งในการอบรม จะได้เห็นกรณีตัวอย่างจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  รวมทั้งได้ลงพื้นที่เรียนรู้จากบุคคลในสถานที่ ๆ เคยหรือกำลังมีประเด็นขัดแย้ง ทำให้ผู้อบรมมีความเข้าใจปัญหามากขึ้น รับฟังรับรู้มากขึ้น และรู้เทคนิควิธีการจัดการความขัดแย้งในระดับต่าง ๆ พอสมควร

ถ้าเราตั้งสตินำแนวคิดความเข้าใจปัญหา การรับฟัง การจัดการแก้ไขระยะสั้นกลางยาวมาใช้ได้ทุกวัน  ที่เรียน 4ส.แล้วนำไปปรับใช้ได้มาก คือ เข้าใจปรากฎการณ์ความขัดแย้งมากขึ้น  เมื่อได้เครื่องมือจากการอบรม ทำให้เรานิ่งและรับฟังก่อน เข้าใจปัญหาของเขาก่อน ค่อยวิจารณ์หรือแสดงความเห็นกลับ ซึ่งลดความขัดแย้งลงไปได้มาก  หรือการวิเคราะห์ว่าใครเป็นคู่ขัดแย้ง ใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละเรื่อง ที่เราจะต้องรับฟังในการแก้ปัญหาเพื่อให้ตรงจุด  และนำมาปรับใช้กับเรื่องราวเล็ก ๆ ในบ้าน ในครอบครัว กับเพื่อนฝูงได้ สร้างสันติสุขสเกลเล็ก ๆ ให้ได้  ถ้าสันติสุขเล็กระหว่างคนในบ้าน ในบริษัท เพื่อนฝูงยังไม่ได้  ก็ยากที่จะหาความสันติสุขในสังคมหรือในประเทศ  มันเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้สติในการฝึกฝน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here