15 ตุลาคม 2564, กรุงเทพมหานครสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จับมือ 6 สถาบันการศึกษาแนวหน้า พัฒนาสื่อการสอน “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ” เพื่อส่งต่อให้กับคุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ เดินหน้าเสริมความรู้ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันให้กับเด็กและเยาวชน กระตุ้นความสนใจ ก่อนนำไปสู่การขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน คาดบทเรียนถูกใช้สอนจริงแก่เด็กและเยาวชนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ พร้อมเตรียมต่อยอดสู่โครงการ Coding in Your Area และ Codekathon

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้งมีบทบาทสำคัญต่อชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่ง ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้ โดยเฉพาะการมุ่งปลูกฝังความตระหนักรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกลุ่มเด็กและเยาวชน จึงร่วมกับ 6 สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศพัฒนาสื่อการสอนในบทเรียน “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ” ขึ้น เพื่อส่งต่อให้กับคุณครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเสริมความรู้ด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวันให้กับเด็กและเยาวชน ทำให้เด็กและเยาวชนได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ จากบริบทใกล้ตัว ช่วยกระตุ้นความสนใจในเทคโนโลยีดิจิทัล และนำไปสู่การขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมนอกห้องเรียน

โดยบทเรียน “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ” ครอบคลุมพื้นฐานความรู้ด้าน Smart Farm, Smart Living, Smart Environment และ Smart Community นำเสนอผ่านเกม เพื่อเป็นสื่อกลางสอดแทรกความสนุกสนานพร้อมกับสาระความรู้ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความหมายกับเด็กและเยาวชนยิ่งขึ้น ซึ่งบทเรียนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นจากความร่วมมือของ ดีป้า และ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยมีสถาบันการศึกษาชั้นนำประจำภูมิภาคเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา ขณะที่ทีมวิทยากรจากแต่ละมหาวิทยาลัยประยุกต์เนื้อหาบทเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาคนั้น ๆ ก่อนถ่ายทอดให้กับคุณครู โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับหน้าที่ถ่ายทอดบทเรียนให้กับคุณครูจากโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ่ายทอดสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถ่ายทอดสู่พื้นที่ภาคกลาง ตะวันตก และตะวันออก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถ่ายทอดสู่พื้นที่ภาคใต้ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ถ่ายทอดสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส)

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า ดีป้า ตั้งเป้าให้คุณครูสามารถดาวน์โหลดสื่อการสอนและเรียนรู้วิธีการใช้สื่อฯ ตัวเองผ่านทาง Youtube: depa Thailand ซึ่งคาดว่า บทเรียนนี้จะถูกนำไปใช้สอนจริงแก่เด็กและเยาวชนมากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ ก่อนเตรียมต่อยอดสู่โครงการ Coding in Your Area ที่มุ่งเน้นจุดประกายการเรียนโค้ดดิ้งของเยาวชนให้เป็นเรื่องใกล้ตัวด้วยการใช้ตัวอย่างนวัตกรรมในท้องถิ่น อาทิ การโค้ดดิ้งเพื่อควบคุมเครื่องวัดอุณหภูมิการหมักปลาร้า การโค้ดดิ้งเพื่อสร้างนวัตกรรมวัดปริมาณน้ำยางพารา และนวัตกรรมมัสยิดอัจฉริยะ ซึ่งมีแผนจะลงพื้นที่จัดกิจกรรมให้เยาวชนกว่า 15,000 คนทั่วประเทศ พร้อมเปิดพื้นที่ให้เยาวชนสร้างสรรค์ และแสดงผลงานนวัตกรรมจริงผ่านเวทีประกวดแข่งขันในโครงการ Codekathon ซึ่งจะสามารถเปิดรับสมัครโรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรมภายในสิ้นปี 2564

“กิจกรรมถ่ายทอดบทเรียนจัดขึ้นทั้งหมด 10 ครั้ง ผ่านโปรแกรมออนไลน์ ในระหว่างวันที่ 5 – 14 สิงหาคม 2564 โดยคุณครูที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับสไลด์บทเรียนและเกมประกอบการสอน อีกทั้งยังได้เรียนรู้เนื้อหาบทเรียนและเทคนิคการสอนที่จะทำให้คุณครูสามารถนำบทเรียนและเกมไปใช้จัดกิจกรรมการสอนจริงได้อย่างมั่นใจ ซึ่งได้รับการตอบรับจากคุณครูกว่า 700 คน โดยหลังจากจัดกิจกรรมเพียง 1 เดือน พบว่ามีคุณครูนำสื่อการสอนไปใช้สอนจริงแล้วกว่า 300 ห้องเรียน มีนักเรียนได้รับความรู้แล้วกว่า 16,000 คน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

เสียงตอบรับจากนักเรียนและคุณครูผู้สอน

“ทึ่งมากครับที่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถพัฒนาไปได้ไกลขนาดนี้ ไม่ค่อยได้เห็นอะไรอย่างนี้สักเท่าไหร่ครับ มันเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับผมมากครับ” นายณัฐวุฒิ อาษาธรรม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนโนนศิลาวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น

“เด็กเค้ามีประสบการณ์น้อย ยิ่งเด็กในต่างจังหวัดอาจไม่ได้เห็นเทคโนโลยีสักเท่าไหร่ เค้าก็จะรู้จักแค่เทคโนโลยีใกล้ตัว อย่างเช่น นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ (Smart Watch) โทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart Phone) เด็กหลายคนยังตื่นเต้นกับกลอนประตูอัจฉริยะ (Smart Door Lock) ที่เราเห็นกันในแทบทุกคอนโดอยู่เลย พอได้บทเรียนนี้มาก็คิดว่าเป็นโอกาสของเด็กที่จะได้เรียนรู้ ได้เตรียมรับมือกับสิ่งที่เค้าจะต้องเจอในอนาคต” นางสาวพิลัดดา ดวงจันทร์ คุณครูโรงเรียนบ้านกำแพงเพชร จังหวัดสงขลา

“บทเรียนนี้ทำให้ผู้เรียนได้เห็นภาพว่าเทคโนโลยีใกล้ตัวเค้ามากขึ้น ทำให้เค้าอาจมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างอุปกรณ์สมาร์ทขึ้นมาด้วยตัวเอง และต่อยอดสู่การเรียนโค้ดดิ้งในอนาคตได้” นายธีรศักดิ์ศรีประเสริฐ คุณครูโรงเรียนโนนศิลาวิทยาคม จังหวัดขอนแก่น

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดสื่อการสอนและเรียนรู้วิธีการใช้สื่อฯ ได้ตามรายละเอียดดังนี้

บทเรียนเรื่อง “โลกแห่งอุปกรณ์อัจฉริยะ”

  • กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ระยะเวลาบทเรียน 45 นาที
  • สำหรับ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – มัธยมศึกษาปีที่ 6
  • วัตถุประสงค์บทเรียน: เพื่อให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันด้านต่าง ๆ ได้แก่ Smart Farm | Smart Living | Smart Environment | Smart Community

ดาวน์โหลดสื่อการสอน ได้ที่: https://short.depa.or.th/iWXof

เรียนรู้วิธีการใช้สื่อการสอน ได้ที่: https://short.depa.or.th/QRptv

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here